ช่วงนี้คำถามที่หลายคนสงสัย น่าจะเป็นว่า จะลงทุน SSF หรือ SSFX ดี? ซึ่งทั้ง 2 กองทุนนั้นเป็นกองทุนประหยัดภาษีสำหรับปีภาษี 2563 คือ สามารถนำจำนวนเงินที่ลงทุนไปมาหักลดหย่อนภาษีได้ ข้อแตกต่างของ SSF (Super Saving Fund กองทุนเพื่อการออม) และ SSFX (Super Saving Fund Extra กองทุนเพื่อการออมพิเศษ) คือ
– SSFX ทุกกองต้องลงทุนในหุ้นไทย อย่างน้อย 65% ของทรัพย์สินของกองทุน ส่วน SSF ลงทุนในสินทรัพย์อะไรก็ได้ ลงทุนต่างประเทศด้วยก็ได้ ซึ่งหลายๆ บลจ. ได้ทยอยออก SSF ที่มีความหลากหลายในสินทรัพย์ลงทุนออกมา
– SSFX จะต้องลงทุนภายใน 30 มิ.ย. 63 นี้เท่านั้น ส่วน SSF ลงทุนได้ทั้งปี
– SSFX เพดาน 200,000 บ. ไม่ต้องรวมกับใคร แต่เพดาน 200,000 บ. ของ SSF ต้องรวมกับกลุ่มการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ (RMF/PVD/ กบข./ ประกันบำนาญ/ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช.) แล้วไม่เกิน 500,000 บ.
ส่วนเงื่อนไขการถือครอง คือ ต้องถือ 10 ปี โดยนับแบบวันชนวัน เหมือนกันทั้ง SSF และ SSFX

สิ่งที่ควรพิจารณา คือ
1. คำนวณภาษีที่ต้องเสีย ปีนี้คาดว่า มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ เพราะต้องยอมรับว่า บางคนอาจมีรายได้ลดลงจากปีที่แล้ว จากวิกฤต COVID-19 บางคนโดนลดเงินเดือน บางคนโดนลดโอที ดังนั้น ลองประมาณคร่าวๆ ว่า ปีนี้ มีรายได้ที่ต้องเสียภาษีมากน้อยแค่ไหน ใครสงสัยว่า การคำนวณภาษี คิดกันยังไง ลองดูได้จากลิงค์นี้นะ https://www.facebook.com/DoctorWantTime/photos/a.177157695991902/1098110637229932/?type=3&theater
2. ใช้กลุ่มก้อนการเก็บเงินเพื่อการเกษียณเต็มเพดานไหม ถ้าเต็มหรือเกือบเต็มเพดาน 500,000 บ. แล้ว การลงทุนใน SSFX ก็จะมีประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่ถ้าปกติใช้ไม่เต็มอยู่แล้ว เหลือเป็นหลักแสน จะลงทุน SSF หรือ SSFX ก็ได้ หรือ ควรลองพิจารณา RMF ด้วย
3. บริหารสภาพคล่อง มีสภาพคล่องไหม เพราะถ้าเป็น SSFX ต้องลงทุนในช่วงนี้เท่านั้น คือได้ถึงแค่ 30 มิ.ย. 63 อีกแค่ 1 เดือน แต่ถ้าเป็น SSF ยังลงทุนในเรื่อยๆ ในปีนี้ และเงินลงทุนที่เข้าไปลงทุนนั้นต้องอยู่ในนั้น 10 ปีเต็ม จึงต้องมีแผนการเงินตรงนี้ด้วย ต้องวางแผนไว้เลยว่า เงินนี้จะเป็นเงินที่ไม่ต้องนำมาใช้จ่ายในอีก 10 ปี
4. ยอมรับความผันผวนของตลาดหุ้นไทยได้ไหม จากวิกฤต COVID-19 ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงมาก ถ้าใครลงทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีจากเมื่อปีก่อนๆ จะเห็นได้ชัดว่า พอร์ตติดลบมากน้อยตามแต่เวลาที่ลงทุนมา คงต้องถามตัวเองว่า ยอมรับได้ไหมถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในการลงทุนของเรา ถ้ายอมรับไม่ได้ เครียดที่เห็นเงินต้นหายไปมาก ก็อาจไม่เหมาะกับ SSFX อาจพิจาณาเลือก SSF หรือ RMF หรือเลือกการลดหย่อนภาษีด้วยวิธีอื่นแทน แต่ถ้ายอมรับได้ และมองว่าเป็นโอกาสในการลงทุนนหุ้นไทย ก็เหมาะกับการลงทุน SSFX
5. จัดพอร์ตการลงทุนอย่างไหร่ เพราะทั้ง SSF และ SSFX คือการลงทุนในกองทุนรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลงทุน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่เราวางแผนไว้ เพียงแต่มีเรื่องประโยชน์ของการลดหย่อนภาษีเข้ามาเพิ่มเติม ดังนั้นนอกจากประเด็นเรื่องภาษีควรพิจารณาเรื่องพอร์ตการลงทุนของเราด้วย เพราะ SSFX นั้นเป็นการลงทุนในหุ้นไทยเป็นหลัก(ซึ่งคล้ายกับ LTF) ซึ่งถ้าเราพิจารณาแล้วว่า เรามีพอร์ตการลงทุนในหุ้นไทยมากแล้ว และปกติก็ใช้เพดาน 500,000 บ.ไม่เต็ม อยากกระจายไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นด้วย การลงทุนใน SSF หรือ RMF จะเหมาะกว่า เพราะมีให้เลือกหลายสินทรัพย์ลงทุน
แต่ละคนนั้นมีลักษณะของรายได้ ค่าใช้จ่าย การยอมรับความเสี่ยง และแผนการเงินที่แตกต่างกัน ดังนั้นการวางแผนภาษี ไม่ใช่แค่ลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุดเท่านั้น แต่ต้องเหมาะกับแผนการเงินของเรา และความสุขในระหว่างทางที่เราลงทุนด้วย
