ช่วงนี้หลายคนน่าจะได้ยินข่าวว่า มีบางบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เล็งออก perpetual bond หรือที่เรียกว่า ว่ารู้จักกันว่า “ตราสารหนี้แบบไถ่ถอนคืนเมื่อเลิกบริษัท” หุ้นกู้ลักษณะนี้จะมีทั้งความเป็นกึ่งๆ ตราสารหนี้และตราสารทุน มาอ่านสรุปแบบเข้าใจง่ายๆ ในโพสนี้กันว่าหุ้นกู้นี้คืออะไร
ใครสนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดดูได้จากลิงค์นี้นะคะ
ปกติแล้วหุ้นกู้ คือ สัญญาเงินกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน โดยในนั้นก็จะมีเขียนไว้ว่าจะจ่ายดอกเบี้ยเท่าไหร่ และจะครบกำหนดคืนเงินต้นหรือไถ่ถอนเมื่อไหร่ ดังนั้นมันคือสัญญาที่ทำให้คนที่ถือตราสารนั้นอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ และบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้นอยู่ในฐานะลูกหนี้ ดังนั้นถ้าบริษัทมีการออกหุ้นกู้มา ต้องบันทึกเงินที่ได้รับจากการที่มีคนมาลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทในส่วนของ “หนี้สิน”
แต่หุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนที่จะมีบ้างส่วนแตกต่างไปจากหุ้นกู้ตามปกติ และ perpetual bond ที่ออกจะมีสิทธิแฝงเป็น หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
ในโพสนี้ขอยกตัวอย่างหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุนของ SIRI ที่มีประกาศอยู่ในขณะนี้ ให้ดูกันจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อ SIRI ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูง และธุรกิจเพื่อให้เช่าอาคารสำนักงาน และอาคารพาณิชย์ เราน่าจะคุ้นเคยกับแบรนด์บ้านของแสนสิริกันอยู่บ้าง ซึ่งตอนเขาประกาศว่า ออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน จะเห็นเขาประกาศไว้แบบนี้…
“หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ”
รายละเอียดที่เขาประกาศสรุปความไว้แบบนี้ แปลว่าอะไร ลองมาค่อยๆ เข้าใจในสิ่งทีเขาเขียนไว้นี้กัน…
“หุ้นกู้”
เป็นตราสารหนี้ (ใบแสดงสิทธิความเป็นเจ้าหนี้) ชนิดหนึ่งออกโดยบริษัทเอกชน คล้ายๆ สัญญาเงินกู้ คนที่ถือหุ้นกู้จะอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ และจะได้รับชำระหนี้หากกิจการต้องปิดลง ซึ่งจะมีสิทธิเรียกร้องได้เงินคืนก่อนหุ้นบุริมสิทธิ และผู้ถือสามัญ ซึ่งแต่ในลำดับขั้นของเจ้าหนี้ในการรับชำระหนี้นั้นยังมีแบ่งเป็นลำดับดังนี้ หุ้นกู้แบบมีประกัน หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ตามลำดับได้รับชำระหนี้ก่อน-หลัง
ส่วน “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ”
ถ้าเกิดผู้ออกตราสารหนี้นั้นเกิดล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ และหุ้นสามัญนะ ซึ่ง perpetual bond จะมีสิทธิเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คือ จะเป็นลำดับการได้รับชำระหนี้ หลังหุ้นกู้แบบมีประกัน และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
จากที่เล่ามาข้างต้น perpetual bond จึงมีความเป็นตราสารหนี้ ต่อมามาอ่านกันต่อว่า แล้วที่มีลักษณะคล้ายทุนคืออะไร
“ที่มีลักษณะคล้ายทุน”
หรือที่เรียกกันว่า หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ หรือ perpetual bond นั้น สิทธิในการไถ่ถอนหรือได้รับคืนเงินต้นของหุ้นกู้ตัวนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัทเลิกกิจการ ดังนั้นหุ้นกู้ชนิดนี้จะไม่มีการกำหนดวันไถ่ถอนหรือวันหมดอายุเอาไว้ และเลื่อนสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัท ทำให้ตราสารหนี้ชนิดนี้ค่อนไปคล้ายกับทุน(equity) มากกว่า หนี้ (debt) บริษัทจึงสามารถบันทึกเงินส่วนนี้ใน “ส่วนผู้ถือหุ้น” ได้ ซึ่งจะไม่ทำให้ D/E ratio หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทแย่ลง
ซึ่งถ้าเราเข้าไปดูงบการเงินของบริษัทแสนสิริ จะเห็นว่า D/E ratio หรือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2.57 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ดังนั้นการออกหุ้นกู้ลักษณะนี้บริษัทจะบันทึกเข้ามาเป็นส่วนของทุนได้
ซึ่งเราก็จะเห็นเขาเขียนไว้ในประกาศ “ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท”
ปกติหุ้นกู้โดยทั่วไป จะมีกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน(ระยะเวลาที่จะคืนเงินต้นให้กับคนที่ลงทุนหุ้นกู้นั้นๆ) แต่หุ้นกู้ลักษณะนี้เมื่อเลิกบริษัทก็ค่อยคืน ดังนั้นหุ้นกู้ชนิดนี้ไม่มีวันกำหนดชำระคืนเงินต้นจนกว่าจะเลิกบริษัทโดยผู้ถือเจ้าหุ้นกู้ชนิดนี้(ที่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้) ไม่มีสิทธิบังคับให้ผู้ออกหุ้นกู้ต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ไม่ว่าในช่วงใด ๆ ก็ตาม
อ้าว…แล้วถ้าเราซื้อหุ้นกู้นั้นมาแล้ว และอยากได้เงินต้นคืนหล่ะ
เราไม่สามารถไปขายคืนให้บริษัทได้ แต่เราต้องไปซื้อขายในตลาดรองของตราสารหนี้แทน คือ ไปขายให้กับคนที่สนใจ โดยติดต่อผ่านธนาคาร หรือซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์(โบรกเกอร์) ซึ่งสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย
และก็จะมีเขียนไว้ว่า “มีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ย โดยไม่มีเงื่อนไข” อันนี้ก็ชัดตามที่เขาเขียน เขาสามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยที่บอกว่าจะจ่ายได้
และหุ้นกู้ชนิดนี้มักจะมีระบุไว้ว่า “ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด”
ทางบริษัทผู้ออกหุ้นกู้นั้นมีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดได้ แต่ฝั่งผู้ที่ถือหุ้นกู้นั้นไม่มีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงจากการถูกไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ (Call option) ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนไม่ได้รับดอกเบี้ยตามที่วางแผนไว้ได้
ซึ่งเขาก็มีประกาศอัตราดอกเบี้ย (ต่อปี)ไว้แบบนี้
อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 5 อัตราคงที่ 8.5% ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยปีที่ 6 – 25 เท่ากับผลรวมของ (ก) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (ข) Initial Credit Spread และ (ค) อัตราร้อยละ 0.25 ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยปีที่ 26 – 50 เท่ากับผลรวมของ (ก) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (ข) Initial Credit Spread และ (ค) อัตราร้อยละ 1.00 ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยปีที่ 51 เป็นต้นไป เท่ากับผลรวมของ (ก) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (ข) Initial Credit Spread และ (ค) อัตราร้อยละ 2.00 ต่อปี
Initial Credit Spread ร้อยละ 7.76 ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน
หุ้นกู้ลักษณะนี้มักจะเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่า หุ้นกู้โดยทั่วไป เพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ถ้าต้องอยู่กับบริษัทนี้ จนเลิกบริษัทแบบนี้ ซื้อหุ้นบริษัทเขาไปเลย ไม่ดีกว่าซื้อหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ที่ออกมาหรอ??
ซึ่งก็มีข้อดี ข้อด้อยต่างกัน…
หุ้นกู้ประเภทนี้อัตราผลตอบแทนค่อนข้างชัดเจนโดยกำหนดไว้ชัดเจนในช่วง 5 ปีแรก แต่หลังจากนั้นเป็นแบบลอยตัว ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาล แบบ 5 ปี แต่ถ้าเราซื้อหุ้นสามัญของ SIRI ผลตอบแทนก็จะขึ้นอยู่กับกำไรของบริษัท และถ้าบริษัทเจ๊ง คนถือหุ้นกู้นี้จะได้เงินคืนก่อนผู้ถือหุ้น(ตราสารทุน)
เนื่องจากหุ้นกู้ชนิดนี้ก็ยังถือว่าเป็นหุ้นกู้ ไม่ใช่หุ้นสามัญ ดังนั้นการถือหุ้นกู้ประเภทนี้จึงไม่ได้สิทธิเหมือนการถือหุ้น เช่น ไม่มีสิทธิมีเสียงในการประชุม ไม่มีสิทธิการได้เงินปันผล ไม่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่ออกให้ผู้ถือหุ้นเดิม และสภาพคล่องในหารซื้อขายก็จะน้อยกว่า การถือหุ้นสามัญ
ถ้าใครสนใจลงทุนในตราสารหนี้ ก็ศึกษารายละเอียดก่อนลงทุนนะ เพราะชื่อว่าตราสารหนี้เหมือนกัน แต่รายละเอียดแต่ละชนิดก็แตกต่างกันนะ และหุ้นกู้ชนิดนี้ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกว่า หุ้นกู้หรือตราสารหนี้โดยทั่วไป
