หลายคนน่าจะได้เห็นข่าว KBANK เตรียมขายหุ้นซื้อคืนจำนวน 23,932,600 หุ้น ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ถึง 16 กันยายน 2563 มารู้จักการซื้อหุ้นคืน และขายหุ้นซื้อคืนผ่านหุ้น KBANK กัน
สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
การซื้อหุ้นคืนของบริษัท คือ การที่บริษัทนำเงินของบริษัทไปซื้อหุ้นคืนมา (เงินสดของบริษัทที่นำมาซื้อหุ้นคืน จะนำมาจากเงินสดของกิจการเอง หรือกู้มาก็ได้) ซึ่งสามารถซื้อคืนได้หากบริษัทมีสภาพคล่องส่วนเกินและมีกำไรสะสม โดยการซื้อคืนก็มักจะซื้อจากตลาดหุ้น เหมือนเวลาที่เราซื้อหุ้น แต่ก็จะต้องมีการรายงานในหัวข้อ “ข่าว” ของหุ้นนั้นๆ ในเว็บไซต์ของ set ทุกวัน ว่ามีการซื้อคืนมาเท่าไหร่บ้าง ราคาที่ซื้อมาสูงสุด ต่ำสุดเท่าไหร่ในแต่ละวัน ในหัวข้อ “แบบรายงานผลการซื้อหุ้นคืน”
ในการซื้อหุ้นคืนของกิจการ บริษัทจะมีการประกาศว่า จะมีการซื้อหุ้นคืนเป็นวงเงินไม่เกินเท่าไหร่ ในช่วงเวลาไหน และมีวัตถุประสงค์ในการซื้อคืนเพื่ออะไร แต่บริษัทอาจไม่ได้ซื้อถึงวงเงินที่กำหนดไว้ก็ได้
ที่ผ่านมาเมื่อตอนต้นปีธนาคาใหญ่อย่าง KBANK ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประกาศซื้อหุ้นคืนจากตลาด เมื่อ 14- 27 ก.พ. 63 โดยธนาคารได้ดำเนินการซื้อหุ้นคืนทั้งสิ้น 23,932,600 หุ้น มีมูลค่ารวม 3,207,966,403.55 บาท โดยเหตุผลในการซื้อหุ้นคืน “เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินที่แข็งเกร่ง และความสามารถในการทำกำไรในอนาคต บนสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทที่มีอยู่ ซึ่งทำให้ราคาหุ้นในอนาคตสามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของธนาคารได้”
ซึ่งหุ้นที่บริษัทซื้อคืนมา หรือที่เรียก หุ้นทุนซื้อคืน หุ้นเหล่านี้จะไม่มีสิทธิออกเสียง ไม่มีสิทธิจองซื้อหุ้นใหม่ ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล
การซื้อหุ้นคืนของบริษัทนั้นจะส่งผลให้ กำไรต่อหุ้นหรือ earning per share(EPS) ซึ่งคิดจาก กำไรสุทธิ/ จำนวนหุ้น และ อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE ที่คิดจาก กำไรสุทธิ/ ส่วนผู้ถือหุ้น ดีขึ้นได้ เพราะจำนวนหุ้นลดลง และส่วนของทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจากการหักหุ้นทุนซื้อคืน ซึ่งอัตราส่วนทางการเงิน 2 ตัวนี้มีส่วนในการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน และยังส่งผลต่อการประเมินมูลค่าหุ้นของกิจการด้วย
และเมื่อบริษัทซื้อหุ้นคืนกลับมาจากตลาดหุ้น บริษัทจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ
1. ขายคืนหุ้นนั้นกลับเข้ามาในตลาด ซึ่งตามกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ คือ ถ้าบริษัทจะขายหุ้นที่ซื้อคืนกลับเข้าไปในตลาดใหม่ได้ ต้องหลังจากซื้อคืนหุ้นนั้นมา “อย่างน้อย 6 เดือน” และต้องขายให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้อง “ไม่เกิน 3 ปี” หลังจากการซื้อหุ้นคืนเสร็จสิ้น ซึ่งการขายหุ้นซื้อคืนจะทำให้บริษัทได้เงินสดกลับเข้ามาในบริษัท
2. นำหุ้นที่ซื้อคืนมา ไปลดทุนที่ชำระแล้ว เพื่อตัดหุ้นนั้นออกไปเลย ดังนั้นถ้าบริษัทไม่ขายคืน หรือขายคืนไม่หมด บริษัทก็ต้องนำมาลดทุนที่ชำระแล้วลง
โดยบริษัทอาจเลือกทางใดทางหนึ่ง หรือเลือกทั้ง 2 ทางก็ได้ คือ ขายหุ้นคืนเข้าไปในตลาดบางส่วน และบางส่วนนำไปลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วลงก็ได้
ซึ่งเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 63 KBANK ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า จะมีการขายหุ้นซื้อคืนในตลาดหุ้นตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่ซื้อคืนมา ในระหว่างวันที่ 31 ส.ค. 63 – 16 ก.ย. 63 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1% ของหุ้นทั้งหมดของธนาคาร ซึ่งเป็นทางเลือกที่บริษัทสามารถทำได้ เนื่องจากระยะเวลาเกิน 6 เดือนจากที่ซื้อหุ้นคืนมาแล้ว โดยการขายหุ้นที่ซื้อคืนมา ไม่ว่าจะขายได้สูงหรือต่ำกว่า ราคาหุ้นที่ซื้อคืน จะไม่ได้บันทึกกำไรหรือขาดทุนในงบกำไรขาดทุน แต่จะปรับปรุงอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้น
ซึ่งการซื้อหุ้นคืน และขายหุ้นซื้อคืนนั้นส่งผลกระทบต่อ ส่วนของผู้ถือหุ้น และอาจส่งผลต่อราคาหุ้นได้ คงต้องดูว่า KBANK จะขายหุ้นที่ซื้อคืนมาเท่าไหร่
โพสนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อชักชวนเพื่อซื้อขายหุ้นเหล่านี้ เป็นการยกตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจเท่านั้นนะ
————————————
มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง แบบเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น
การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้ ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย
