ปีนี้กองทุนประหยัดภาษี จะมีอยู่ 3 แบบ คือ กอง SSFX, SSF และ RMF และขอเน้นว่า ตั้งแต่ปีภาษี 2563 นี้ไปจะไม่สามารถใช้ LTF ใช้ลดหย่อนภาษีได้แล้วนะ และการลดหย่อนภาษีด้วยกอง SSF , RMF บางคนมีข้อสงสัยอย่างไรบ้าง มาอ่านโพสนี้กันค่ะ
สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
1. SSF และ RMF ที่ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้นั้น หมายถึง แต่ละตัว หรือ รวมกันทั้ง 2 ตัว??
เงื่อนไขตรงนี้จะเป็นแต่ละตัวว่า ไม่เกิน 30% ของรายได้นะ แต่ก็มีเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ต้องสนใจด้วยคือ
– SSF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บ.
– RMF ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป้นต้นไป จากเดิมกำหนดไว้ ไม่เกิน 15% ของรายได้
แต่เมื่อรวมทั้ง SSF + RMF + PVD + ประกันบำนาญ + เงินสงเคราะห์ครูเอกชน + กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บ. นะ
เพิ่มเติมอีกนิด บางคนมีลดหย่อนด้วย PVD (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ร่วมด้วย ซึ่ง PVD นั้นมีเพดานไม่เกิน 15% ของรายได้ ตรง 15% นี้ก็คิดเฉพาะ PVD เหมือนกัน
2. ถ้าอายุใกล้เกษียณ ถ้าจะลดหย่อนด้วย SSF, RMF เสี่ยงไปไหม??
ทั้ง SSF และ RMF นั้น มีให้เลือกหลากหลายสินทรัพย์การลงทุน ตั้งแต่สินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อย อย่างกองทุนตลาดเงินไปจนถึงสินทรัพย์ถ้าเลือก ดังนั้นควรเสี่ยงหรือผันผวนแค่ไหนขึ้นกับสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน
แต่มีข้อสังเกตเล็กน้อยว่า เงื่อนไขการถือครองของ SSF นั้นจะเป็นการนับแบบวันชนวันของเงินแต่ละก้อน เช่น ซื้อก้อนแรก 1 เม.ย. 63 อีกก้อนซื้อ 1 ธ.ค. 63 แบบนี้คือ ก้อนที่ซื้อเมื่อ 1 เม.ย. 63 จะขายได้ 2 เม.ย.73 และก้อนที่ซื้อเมื่อ 1 ธ.ค. 63 จะขายได้เมื่อ 2 ธ.ค. 73 เป็นการนับแต่ละก้อนแบบวันชนวัน และเงื่อนไขของ SSF นั้นไม่ต้องลงทุนทุกปี ซื้อปีไหนลดหย่อนได้ปีนั้น
ส่วน RMF เงื่อนไขการถือครอง จะเป็นแบบนี้ คือ ลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องอายุเกิน 55 ปี ถึงขายคืนได้ตามเงื่อนไข โดยการนับ 5 ปี นี้เป็นการนับแบบวันชนวันโดยนับวันที่ลงทุนครั้งแรกเป็นหลัก และเมื่อครบเงื่อนไข จะสามารถขายคืนทุกก้อนที่เคยซื้อมา และ RMF นั้นต้องลงทุนทุกปี ขาดได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน
เช่น มานะอายุ 45 ปี เริ่มลงทุน RMF ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 ลงทุนทุกปี ไปเรื่อยๆ ซึ่ง มานะจะอายุครบ 55 ปี บริบูรณ์วันที่ 1 ธ.ค.73 ดังนั้นเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 73 มานะจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนของ RMF ทั้งหมดทุกก้อนที่เคยซื้อมาได้เลย เพราะครบตามเงื่อนไขการถือครอง
ดังนั้นเงื่อนไขการถือครอง และเงื่อนไขลงทุนต่างกัน ควรศึกษารายละเอียดของกองทุนประหยัดภาษีเหล่านี้ก่อนลงทุน แต่เสี่ยงแค่ไหน ขึ้นกันสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนด้วย
3. ถ้า SSF คิดถือครอง 10 ปี โดยนับแต่ละก้อนแบบนี้ ก็ไม่เหมาะจะลงทุนเป็นแบบ DCA นะสิ และ RMF ก็เหมาะกับคนใกล้เกษียณเท่านั้นสิ เพราะจะได้ไม่ต้องถือครองนาน เงินไปค้างอยู่ในนั้นตั้งนาน??
SSF นั้นถึงจะถือครองโดยนับแต่ละก้อน แต่ก็ยังสามารถลงทุนแบบ DCA ค่อยทยอยลงทุนได้ เพื่อเราจะได้ไม่ต้องคอยหาเงินก้อนเงินใหญ่ เพื่อมาซื้อกองทุนประหยัดภาษีเหล่านี้ และเป็นการลงทุนเพื่อให้เป็นค่าเฉลี่ยต้นทุนที่ลงทุน ซึ่งสามารถนำมาใช้กับ SSF ได้ และไม่ต้องกลัวสับสน เพราะกองทุนเขาก็จะแยกเงินลงทุนของเราให้ชัดอยู่แล้วว่า เงินก้อนไหนครบตามเงื่อนไขที่ขายได้บ้าง
ส่วน RMF นั้น ควรมองเป็นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ ซึ่งควรวางแผนไว้ตั้งแต่ตอนเราเริ่มทำงาน เพื่อที่จะได้เห็นพลังของดอกเบี้ทบต้น เพราะเมื่อออมเร็ว เราจะมีตัวช่วยสำคัญคือเรื่องของเวลาที่ทำให้เงินนั้นงอกเงยได้ และใช้หลักเรื่องของ DCA มาลงทุนใน RMF ได้เช่นกัน
การวางแผนเรื่องภาษี ถือเป็นหลักการในการวางแผนการเงินส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง เพราะภาษีถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ดังนั้นเราควรศึกษาเรื่องภาษี และการลดหย่อนภาษีไว้ด้วย ซึ่งการลงทุนในกองทุนประหยัดภาษีนั้นก็เป็นตอบโจทย์ในการลดหย่อนภาษีและยังได้ออมเงินด้วย
———————————–
E-book ก้าวสู่เป้าหมายด้วยกองทุนรวม การลงทุนในกองทุนรวมจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาศึกษาเรื่องการลงทุน และติดตามการลงทุนมากนัก
ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้เล่ารายละเอียดต่างๆ ของกองทุนรวม การค้นหาข้อมูลของกองทุนรวม วิธีการคัดเลือกกองทุนรวมที่ใช่สำหรับคุณ อธิบายอย่างเข้าใจง่ายเป็นขั้นตอน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เงินงอกเงย และมีความสุขในระหว่างทางที่ลงทุน
ใครสนใจสามารถเข้าไปทดลองอ่าน และสั่งซื้อได้จาก OOKBEE ตามลิงค์นี้นะคะ http://www.ookbee.com/shop/BookInfo?pid=77af1ed2-e980-43d6-ad7b-3f7484dc45ed&affiliateCode=5626f6f3aa214859b5eee9400eca9b15
และสามารถสั่งซื้อได้ทาง Meb ได้ด้วยเช่นกันค่ะ
