การลงทุนในกองทุนรวมให้ผลตอบแทนแบบทบต้นอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องขายกองทุนออกมา
ทำไมเป็นแบบนั้น ลองไปอ่านกัน…
สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
การได้ผลตอบแทนแบบดอกเบี้ยทบต้นก็คือ การที่เราเอา “กำไรหรือผลตอบแทนที่ได้มานั้นไปลงทุนต่อ” ซึ่งกำไรที่ได้มาก็จะกลายเป็นเงินต้นในปีถัดไป ทบไปเรื่อยๆ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมนั้นก็เป็นลักษณะนี้ เพราะเงินต้นเดิม และผลตอบแทนหรือกำไรที่เราได้เพิ่มขึ้นมานั้นจะถูกนำไปลงทุนต่อโดยอัตโนมัติโดยผู้จัดการกองทุน ถ้าเราไม่ได้ขายกองทุนออกมา
สมมติกองทุนหุ้นในอุดมคติกองหนึ่ง ทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี
ปีแรก เราลงทุน 100,000 บ. พอผ่านไป 1 ปี เงินเราก็จะกลายเป็น 110,000 บ. ซึ่งจะกลายเป็นเงินต้นในปีถัดไป เงินนี้ก็จะถูกนำไปลงทุนต่อโดยผู้จัดการกองทุน เพราะมันจะเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินของกองทุน
ที่ผู้จัดการกองทุนก็จะนำไปบริหารต่อให้นั่นเอง ถ้าเราไม่ได้ขายหน่วยลงทุนนั้นออกมา
ลองมาดูเป็นราคาหน่วยลงทุนกัน เป็นกองทุนหุ้นกองเดิม ที่เล่าให้ฟังตอนต้น
สมมติ เราซื้อหน่วยลงทุนตอนแรก ราคา 10 บ./หน่วย เราซื้อ 100,000 บ. เราจะมีหน่วยลงทุน 10,000 หน่วย กองทุนหุ้นในอุดมคติของเรากองนี้ ทำผลตอบแทนได้ 10% ดังนั้นมูลค่าหน่วยลงทุนเรา ก็จะกลายเป็น 11 บาท ส่วนจำนวนหน่วยเราเท่าเดิมคือ 10,000 หน่วย ถ้าเราไม่ได้ซื้อเพิ่มหรือขายออก
ผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินกำไรของเรานั้นไปลงทุนต่อ ปีต่อมาทำผลตอบแทนได้อีก 10% ต่อปี ราคาหน่วยลงทุนเราก็จะกลายเป็น 12.1 บาท เพราะมูลค่าหน่วยลงทุนเป็น 11 บ. ไม่ใช่ 10 บ. ของเดิมนะ
ถ้าเป็นกองทุนแบบไม่ปันผล ก็จะเป็นแบบข้างต้น แต่ถ้าเป็นกองทุนแบบปันผล และมีการปันผลออกมา จะเห็นพลังของดอกเบี้ยทบต้นน้อยกว่า เพราะว่า กองทุนต้องปันเงินผลกำไรหรือผลตอบแทนที่ได้ออกมาให้ผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งจะเป็นแบบนี้…
สมมติ กองทำผลตอบแทนได้ 10% ต่อปี จากราคาต่อหน่วย 10 บ. ก็จะเป็น 11 บ. แบบที่เล่าข้างต้น
แต่กองนี้เป็นกองทุนแบบปันผล และเมื่อกองทุนมีกำไรเมื่อเทียบกับงวดก่อน ก็ประกาศจ่ายปันผลออกมา โดยประกาศจ่ายผลออกมา 0.5 บ. ต่อหน่วย มูลค่าหน่วยลงทุนก็จะลดลงเหลือ 10.5 บ. เพราะการปันผลนั้นจะหักออกมาจากทรัพย์สินของกอง ซึ่งฐานที่จะเป็นเงินต้นให้ปีถัดไปจะเป็น 10.5 บ. ต่อหน่วย
แทนที่มูลค่าหน่วยจะเป็น 11 บ. แบบตัวอย่างแรกที่เป็นกองทุนแบบไม่ปันผล
ถ้าปีต่อมาทำผลตอบแทนได้อีก 10% ต่อปี มูลค่าหน่วยลงทุนก็จะกลายเป็น 11.55 บ.
ถ้าเราลงทุนแบบ DCA (Dollar Cost Average) เงินที่เราใส่เข้าไปแต่ละก้อนก็จะเป็นลักษณะเดียวกัน
สรุป คือ การลงทุนในกองทุนรวมให้ผลตอบแทนแบบทบต้นด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ได้นำผลตอบแทนหรือกำไรที่ได้เพิ่มมานั้นออกมา เพราะผู้จัดการกองทุนก็จะนำไปลงทุนต่อให้โดยอัตโนมัติ
และจากตัวอย่าง เราก็จะเห็นว่า กองทุนที่มูลค่าหน่วยสูงๆ ไม่ได้แปลว่าแพง แต่เนื่องจากกองทุนทำผลตอบแทนได้ดี หรือเปิดมานานแล้ว ซึ่งมีผลตอบแทนแบบทบต้น ทบเข้ามาเรื่อยๆ จึงทำให้มูลค่าต่อหนึ่งหน่วยลงทุนสูงได้
ปล. ที่ต้องใช้คำว่ากองทุนหุ้นในอุดมคติ เพราะชีวิตจริงผลตอบแทนในการลงทุนกองทุนรวมหุ้นนั้น มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ และก็ไม่ใช่จะได้ 10% ต่อปี ไปเรื่อยๆ ทุกปี บางปีอาจน้อยกว่านี้ หรือมากกว่านี้ก็ได้
แต่เพื่อเป็นตัวอย่างให้เข้าใจได้แบบง่ายๆ
————————————
E-book “ก้าวสู่เป้าหมายด้วยกองทุนรวม”
ที่อธิบายถึงเรื่องของกองทุนรวม ค่าต่างๆ ที่ควรรู้ก่อนลงทุน
วิธีการเลือกกองทุนรวมลักษณะต่างๆ ให้เหมาะกับแผนการเงินของเรา ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน ตราสารหนี้ การเลือกกองทุนหุ้นแบบ passive และ active fund รวมไปถึงกองทุนประหยัดภาษี
สนใจสามารถเข้าไปทดลองอ่านและสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของ ookbee และ meb ได้เลยนะคะ