เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ทาง KBANK หรือธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ได้ครบกำหนดเวลาการขายหุ้นซื้อคืนกลับเข้าตลาดแล้ว ซึ่งไม่ได้ขายออกไป และเตรียมนำหุ้นที่ซื้อคืนมา ไปลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว แล้วการที่นำหุ้นที่ซื้อคืนมา ไปลดทุนจะส่งผลต่องบการเงินยังไง ใครสงสัย สนใจ มาอ่านโพสนี้กัน…
สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
KBANK ได้มีการประกาศซื้อหุ้นคืนจากตลาด เมื่อช่วงต้นปี 63 คือในช่วง 14- 27 ก.พ. 63 โดยธนาคารได้ดำเนินการซื้อหุ้นคืนทั้งสิ้น 23,932,600 หุ้น มีมูลค่ารวม 3,207,966,403.55 บาท โดยเหตุผลในการซื้อหุ้นคืน “เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินที่แข็งเกร่ง และความสามารถในการทำกำไรในอนาคต บนสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทที่มีอยู่ ซึ่งทำให้ราคาหุ้นในอนาคตสามารถสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของธนาคารได้”
ซึ่งหุ้นที่บริษัทซื้อคืนมา หรือที่เรียก หุ้นทุนซื้อคืน หุ้นเหล่านี้จะไม่มีสิทธิออกเสียง ไม่มีสิทธิจองซื้อหุ้นใหม่ ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล
และเมื่อบริษัทซื้อหุ้นคืนกลับมาจากตลาดหุ้น บริษัทจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ
1. ขายคืนหุ้นนั้นกลับเข้ามาในตลาด ซึ่งตามกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ คือ ถ้าบริษัทจะขายหุ้นที่ซื้อคืนกลับเข้าไปในตลาดใหม่ได้ ต้องหลังจากซื้อคืนหุ้นนั้นมา “อย่างน้อย 6 เดือน” และต้องขายให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้อง “ไม่เกิน 3 ปี” หลังจากการซื้อหุ้นคืนเสร็จสิ้น ซึ่งเมื่อมีการขายหุ้นซื้อคืน ก็จะทำให้บริษัทได้เงินสดกลับเข้ามาในบริษัท
2. นำหุ้นที่ซื้อคืนมา ไปลดทุนที่ชำระแล้ว เพื่อตัดหุ้นนั้นออกไปเลย ดังนั้นถ้าบริษัทไม่ขายคืน หรือขายคืนไม่หมด บริษัทก็ต้องนำมาลดทุนที่ชำระแล้วลง
โดยบริษัทอาจเลือกทางใดทางหนึ่ง หรือเลือกทั้ง 2 ทางก็ได้ คือ ขายหุ้นคืนเข้าไปในตลาดบางส่วน และบางส่วนนำไปลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วลงก็ได้
ซึ่งต่อมา KBANK ประกาศเตรียมขายหุ้นซื้อคืนจำนวน 23,932,600 หุ้น ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ถึง 16 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นระยะเวลา 6 เดือนแล้วหลังจากที่บริษัทซื้อหุ้นคืนมาจากตลาด
และต่อมาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ช่วงเย็น ทาง KBANK ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ได้ครบกำหนดเวลาการขายหุ้นซื้อคืนกลับเข้าตลาดแล้ว ซึ่งไม่ได้มีขายหุ้นที่ซื้อคืนมาออกไป และเตรียมนำหุ้นที่ซื้อคืนมา ไปลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว
ซึ่งเมื่อนำหุ้นที่ซื้อคืนมาไปลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว เพื่อตัดหุ้นที่ซื้อคืนมาออกจากตลาด ส่งผลต่องบการเงินอย่างไรบ้าง มาอ่านกัน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับงบจะมีการเปลี่ยนแปลง แบบนี้…
1. เมื่อลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วลง ก็จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง เพราะ 3 องค์ประกอบสำคัญของส่วนผู้ถือหุ้นคือ ทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว ส่วนเกินมูลค่าหุ้น และกำไรสะสม ดังนั้นเมื่อลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วลง จึงทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง
2. เมื่อส่วนผู้ถือหุ้นลดลง จึงส่งผลให้ อัตราหนี้สินต่อทุน เพิ่มขึ้นได้ ถึงแม้ว่าหนี้เท่าเดิม เพราะ D/E ratio คิดมาจาก หนี้สิน/ ส่วนผู้ถือหุ้น
3. เมื่อส่วนผู้ถือหุ้นลดลง จะทำให้อัตราส่วน ROE ดูสูงขึ้นได้ แม้กำไรจะเท่าเดิม เพราะอัตราส่วน ROE นั้นคิดมาจาก กำไรสุทธิ/ ส่วนผู้ถือหุ้น
มาลองดูตัวอย่างบริษัทมานีจำกัด มหาชน กัน
บริษัทมานีมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 1,000,000 ราคาพาร์ คือ 5 บ.
เดิมบริษัททำกำไรสุทธิได้ 1,000,000 บ. ต่อปี
ส่วนผู้ถือหุ้นเดิมคือ 10,000,000 บ.
ROE = 1,000,000/ 10,000,000 = 0.1 = 10%
ถ้าบริษัทซื้อหุ้นคืนมาจากตลาด 200,000 หุ้น และตัดหุ้นซื้อคืนนี้ทิ้ง โดยไปลดจำนวนหุ้นและทุนที่ออกและเรียกชำระลดลง
เมื่อซื้อคืนมา 200,000 หุ้น จึงไปลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วได้ = 200,000 หุ้น x 5 บ. = 1,000,000 บ.
จึงทำให้ส่วนผู้ถือหุ้น เหลือ 9,000,000 บ. ROE = 1,000,000/ 9,000,000 = 11.1%
4. กำไรต่อหุ้น หรือ earning per share(EPS) จะเพิ่มขึ้นแม้ว่า กำไรทำได้เท่าเดิม เพราะ EPS คิดมาจาก กำไรสุทธิ/ จำนวนหุ้น เมื่อจำนวนหุ้นลดลงก็ตรงไปตรงมาที่ทำให้ EPS ดูสูงขึ้นมาได้ เหมือ pizza ที่ขนาดเท่าเดิม แต่คนแบ่งหรือตัวหารน้อยลง แต่ละคนก็จะได้มากขึ้น เช่น ทำกำไรสุทธิ ได้ 1,000,000 บ./ ปี มี 1,000,000 หุ้น กำไรต่อหุ้น (EPS) จะเท่ากับ 1 บ.
ถ้าบริษัทซื้อหุ้นคืนมาจากตลาด 200,000 หุ้น ก็จะทำให้หุ้นในตลาดเหลือ 800,000 หุ้น ถึงปีนั้นจะทำกำไรได้เท่าเดิม แต่ EPS จะเพิ่มเป็น 1.25 บ. (1,000,000 บ./ 800,000 หุ้น)
การตัดหุ้นทุนซื้อคืน โดยลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วลง จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง ซึ่งงบการเงินที่เกี่ยวข้องมีการเปลี่ยนแปลงได้
โพสนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อชักชวนเพื่อซื้อขายหุ้นเหล่านี้ เป็นการยกตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจเท่านั้น
————————————
มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง แบบเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น
การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้ ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย
