มีคำถามจากแฟนเพจ ถามมาว่า ถ้าเราเสียถึงภาษีฐาน 20% และเราลงทุน SSF และ RMF อย่างละ 1 แสน คือ เราจะได้คืนภาษี = (100,000 + 100,000) x 20% = 40,000 บ. เลยใช่ไหม??
ก่อนจะตอบคำถามนี้ มารู้จักหลักการคิดคำนวณภาษีของบุคคลธรรมดาอย่างเราๆ กันก่อนนะ
การคิดภาษีที่ต้องเสียเป็นแบบนี้
เงินได้ทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ซึ่งเงินได้สุทธิตรงนี้ก็จะนำไปเข้าคิดตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได และได้ออกมาเป็นภาษีที่เราต้องเสีย
โดย ค่าใช้จ่าย จะเป็นค่าที่กฏหมายกำหนดไว้แล้วว่า สามารถหักได้แบบไหนเท่าไหร่ ตามลักษณะของรายได้ เช่น 40(1) เป็นรายได้ประเภทเงินเดือน โบนัส บำเหน็ญ บำนาญ และ 40(2) เป็นรายได้จากการจ้างงาน ค่านายหน้า ซึ่งลักษณะรายได้แบบนี้ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แบบเหมาเท่านั้น และแบบเหมาที่ว่า หักรวมกันได้ 50% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บ. ซึ่งจะเห็นว่ามีเพดานตรงนี้อยู่ ทำให้รายได้ประเภทนี้มักโดนภาษีค่อนข้างมาก เพราะหักค่าใช้จ่ายได้น้อย
ค่าลดหย่อน คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฏหมายให้ตามภาระ และสถานการณ์อื่นๆ เช่น
– ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับภาระ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนพ่อแม่ ดูแลบุตร คู่สมรส ดอกเบี้ยบ้าน ค่าเบี้ยประกันชีวิต ประกันสังคม
– ค่าลดหย่อนจากลงทุน เช่น SSF, SSFX, RMF, PVD, กบข.
ลองมาดูตัวอย่างวิธีการคิดกัน
มานะเป็นมนุษย์เงินเดือนโสด มีรายได้ทั้งปีเป็น 40(1) และ 40(2) ทั้งหมด 1,000,000 บ. มีประกันสังคม ซึ่งปีนี้ถูกหักไปทั้งไมด 5,850 บ. (ปีนี้ยอดประกันสังคมลดลง เนื่องจากรัฐมีนโยบายลดการหักเงินเข้าประกันสังคมนะ จากที่หักสูงสุด 750 บ. ต่อเดือน โดยคิด 5% จากเงินเดือนสูงสุด 15,000 บ. ลดเดือนมี.ค. พ.ค. หัก 1% (สูงสุด 150 บ.) และเดือนก.ย. – พ.ย. หัก 2% (สูงสุด 300 บ.)
มานะซื้อ SSF, RMF อย่างละ 100,000 บ.
มาคำนวณภาษีของมานะกัน
รายได้ที่เป็น 40(1) และ 40(2) ทั้งหมด 1,000,000 บ.
หักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บ. เพราะแม้กฏหมายจะบอกว่า หักค่าใช้จ่ายของ 40(1) และ 40(2) ได้ 50% แต่มีเพดานไว้ที่ 100,000 บ.
ค่าลดหย่อน
ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บ. (อันนี้กฏหมายกำหนดไว้ให้เราสามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้เท่านี้)
ค่าลดหย่อนประกันสังคม 5,850 บ.
ลองคิดภาษี ถ้าไม่มี SSF, RMF ก่อนนะ
เงินได้ทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
1,000,000 – 100,000 – (60,000+ 5850) = 834,150 บ.
ตรงเงินได้สุทธิตรงนี้จะมาเข้าการคิดอัตราภาษีแบบขั้นบันได

ขั้นที่ 1 เงินได้สุทธิ 150,000 บ. แรก ไม่เสียภาษี
ขั้นที่ 2 เงินได้สุทธิ มากกว่า 150,000 – 300,000 บ. เสีย 5% ดังนั้นในขั้นนี้มานะเสีย 150,000 บ. x 5% = 7,500 บ. (เพราะมีเงินได้สุทธิที่อยู้ในขั้นนี้ทั้งหมด 150,000 บ.)
ขั้นที่ 3 เงินได้สุทธิ มากกว่า 300,000- 500,000 บ. เสีย 10% ดังนั้นในขั้นนี้มานะเสีย 200,000 บ. x 10% = 20,000 บ.
ขั้นที่ 4 เงินได้สุทธิ มากกว่า 500,000- 750,000 บ. เสีย 15% ดังนั้นในขั้นนี้มานะเสีย 250,000 บ. x 15% = 37,500 บ.
ขั้นที่ 5 เงินได้สุทธิ มากกว่า 750,000 -1,000,000 บ. เสีย 20% ดังนั้นมานะมีเงินได้อยู่ในขั้นนี้ 84,150 บ. จึงเสีย บ. 84,150 x 20% = 16,830 บ.
รวมภาษีที่ต้องเสียในแต่ละขั้นมาเรวมกัน = 0 + 7,500 + 20,000 + 37,500 + 16,830 = 81,830 บ.
ลองดูว่า เมื่อมานะซื้อ SSF และ RMF อย่างละ 100,000 บ.
จะทำให้เงินได้สูทธิของมานะ = 1,000,000 – 100,000 – (60,000+ 5850 + 100,000 + 100,000) = 634,150 บ.
ขั้นที่ 1 เสียภาษี 0 บ.
ขั้นที่ 2 เสีย 7,500 บ.
ขั้นที่ 3 เสีย 20,000 บ.
ขั้นที่ 4 เงินได้สุทธิ มากกว่า 500,000- 750,000 บ. เสีย 15% ดังนั้นในขั้นนี้มานะเสีย 134,150บ. x 15% = 20,122.5 บ.
รวมภาษีที่ต้องเสียในแต่ละขั้นมาเรวมกัน = 0 + 7,500 + 20,000 + 20,122.5 = 47,622.5 บ.
ทำให้เราประหยัดภาษีไป เมื่อเทียบกับของเดิมที่ไม่มี SSF และ RMF ที่มาลดหย่อน 81,830 – 47,622.5 = 34,207.5 บ.
ดังนั้นจากคำถามขั้นต้น ถ้าเราเสียถึงภาษีฐาน 20% และเราลงทุน SSF และ RMF อย่างละ 1 แสน คือ เราจะได้คืนภาษี = (100,000 + 100,000) x 20% = 40,000 บ. เลยใช่ไหม??
เนื่องจากการเสียภาษีนั้นเป็นลักษณะขั้นบันได ดังนั้นต้องดูว่า ค่าลดหย่อนภาษีนั้นไปลดหย่อนในขั้นใด จากตัวอย่างจะเห็นว่า ค่าลดหย่อน SSF และ RMF นั้นไปลดหย่อนในช่วงฐาน 20% และอีกส่วนทำให้เงินได้ที่อยู่ในฐาน 15% ลง ดังนั้นจึงไม่ใช่การคิดตรงๆ เอาฐานที่เสียสูงสุดมาคิด
และการจะได้คืนภาษีหรือไม่ ขึ้นกับว่า เราถูกหักภาษีไว้ทั้งปีเท่าไหร่ เช่น ถ้ามานะถูกหักภาษีไว้แล้ว 50,000 บ. พอคำนวณภาษีทั้งปีที่ต้องเสียทั้งหมดคือ 47,622.5 บ. แบบนี้คือ จะได้ภาษีที่ถูกหักไปคืน = 50,000 – 47,622.5 = 2,377.5 บ.
แต่จะเห็นว่า มนุษย์เงินเดือนอย่างๆ ถ้าไม่ได้หาค่าลดหย่อนภาษีมาเพิ่มเติม ภาษีที่ต้องเสียก็จะประมาณรายได้ 1 เดือนของเรา และยิ่งเงินได้มาก ฐานภาษีที่ต้องเสียก็จะมากขึ้น
————————————
E-book “ก้าวสู่เป้าหมายด้วยกองทุนรวม”
ที่อธิบายถึงเรื่องของกองทุนรวม ค่าต่างๆ ที่ควรรู้ก่อนลงทุน
วิธีการเลือกกองทุนรวมลักษณะต่างๆ ให้เหมาะกับแผนการเงินของเรา ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน ตราสารหนี้ การเลือกกองทุนหุ้นแบบ passive และ active fund รวมไปถึงกองทุนประหยัดภาษี
สนใจสามารถเข้าไปทดลองอ่านและสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของ ookbee และ meb ได้เลยนะคะ
