ช่วงนี้หลายคนน่าจะได้ข่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์อาจจะมีการปรับเกณฑ์เรื่องเกี่ยวกับ “ผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือ free float ใหม่ วันนี้มารู้จักกันว่า ผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือ free float คือใคร
สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
ผู้ถือหุ้นรายย่อย คือ ผู้ถือหุ้นที่ “ไม่ใช่” เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน (Strategic Shareholders)
ผู้ที่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน (Strategic Shareholders) ก็คือ
– ผู้บริหารระดับสูง
– ผู้มีอำนาจควบคุม
– รวมถึงผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของทุนชำระแล้ว ยกเว้น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญ
ซึ่งเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์สำหรับหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย และถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของทุนชำระแล้ว
ส่วนเกณฑ์สำหรับหุ้นที่จะเข้าคำนวณอยู่ในดัชนี SET50 นั้น กำหนดเรื่องของ free float ไว้ว่า อย่างน้อย 20% ของทุนเรียกชำระแล้ว
แล้ว free float สำคัญอย่างไร??
Free float จะเกี่ยวข้องกับสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น เนื่องจากการกระจายการถือหุ้นในรายย่อย ทำให้มีสภาพคล่องในการซื้อขาย หุ้นที่มี free float สูง ก็มักจะมีสภาพคล่องในการซื้อขายมาก และราคาก็จะเป็นไปตามกลไกของตลาด
ส่วนหุ้นที่มี free float หรือผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อย จะสภาพคล่องในการซื้อขายน้อย และราคามักจะถูกควบคุมโดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ง่าย
แต่ถ้าหุ้นที่มีสัดส่วนของ free float สูงมาก ก็อาจจะก่อให้เกิดคำถามได้ว่า ทำไมพวกผู้ถือหุนรายใหญ่หรือผู้บริหารกลับถือหุ้นตัวเองน้อย และปล่อยหุ้นให้นักทุนรายย่อยมาก
แล้วเราจะหาดูว่าค่า free float ได้จากตรงไหน??
เราสามารถหาข้อมูลของสัดส่วน free float ได้จากในเว็บไซต์ของ set เมื่อเข้าไป “ข้อมูลรายบริษัท/หลักทรัพย์” ตรงหุ้นที่เราสนใจ ให้กดเลือกตรงหัวข้อ “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” เราก็จะเห็นข้อมูล จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) และ % การถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (% Free float)
ซึ่ง free float นี้ตลาดหลักทรัพย์จะดูจากรายงานของบริษัทที่จัดทำจากรายชื่อผู้ถือหุ้น ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือวันปิดสมุดทะเบียน เพื่อเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี

————————————
มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเองเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้นที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้นการอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้
