ก่อนการวางแผนเพื่อลดหย่อนภาษีนั้น เราควรสามารถคำนวณได้ก่อนว่า เราเสียภาษีประมาณเท่าไหร่ จะได้มาวางแผนภาษีได้ถูกต้องว่า เราควรจะเพิ่มค่าลดหย่อนยังไง เท่าไหร่บ้าง
ซึ่งเมื่อเรา นำรายได้ทั้งปีของเรามาคิด หักด้วยค่าใช้จ่ายที่กฎหมายกำหนดว่าหักได้เท่าไหร่แล้ว เช่น มนุษย์เงินเดือนนั้น รายได้จะเป็น 40(1) ซึ่งเมื่อนำรายได้ทั้ง 40(1) แล้วหักเหมาได้ 50% เงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บ.
พอเราหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็จะนำมาหักค่าลดหย่อนต่างๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บ. ประกันชีวิต SSF RMF เป็นต้น
ซึ่งก็จะเป็นแบบนี้ รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ตรง “เงินได้สุทธิ” นี้เองที่เราจะนำเข้ามาคำนวณอัตราภาษี ซึ่งอัตราภาษีของบ้านเรา จะใช้เป็นแบบขั้นบันได ตามในรูปนะ
การคำนวณอัตราภาษีนี้ เราต้องคิดภาษีของเงินได้แต่ละฐานของเรา เป็นบันไดแต่ละขั้นที่ต้องก้าวไปจากขั้นแรก และบวกสะสมแต่ละขั้นกันไปเรื่อย ๆ แบบนี้…
ตัวอย่าง คิดภาษีของปี 2564 มนุษย์เงินเดือน โสด พ่อแม่ยังมีเงินได้จึงไม่สามารถนำของค่าเลี้ยงดูพ่อแม่มาลดหย่อนได้ มีเงินเดือน 40,000 บ. ต่อเดือน มีค่าลดหย่อนเพิ่มแค่เรื่องของประกันสังคม ซึ่งเมื่อปี 64 รัฐมีการปรับลดเงินที่หักเข้าประกันสังคม ซึ่งปกติประกันสังคมจะหักได้ 9,000 บ.ต่อปี ของปี 64 สูงสุดก็จะเป็นแค่ 5,100 บ. ลองดูกันว่า จะเสียภาษีเท่าไหร่
เริ่มจาก
เงินได้ทั้งปี 40,000 บ. X 12 เดือน = 480,000 บ. ต่อปี เป็นรายได้ 40(1)
กฎหมายกำหนดว่า รายได้ 40(1) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บ. ดังนั้นจะหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุด ตรงนี้ แค่ 100,000 บ.
ค่าลดหย่อน
ค่าลดหย่อนส่วนตัว รัฐกำหนดให้ลดหย่อนได้ 60,000 บ.
ประกันสังคม 5,100 บ.
เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปคำนวณอัตราภาษี คือ
480,000 – 100,000 – 60,000 – 5,100 บ. = 314,900 บ.
มาดูกันที่อัตราภาษีแบบขั้นบันไดกัน ที่ต้องเริ่มกันที่ตั้งแต่ก้าวแรก หรือขั้นแรก แล้วบวกขึ้นไปเรื่อยๆ
เริ่มกันที่ขั้นที่ 1 จากตาราง เงินได้ในขั้นแรก 150,000 บ. แรก ไม่เสียภาษี เพราะฉะนั้น 150,000 บ. แรกของเรา ขั้นนี้ ภาษีที่ต้องเสีย คือ 0
มาขั้นที่ 2 เงินได้ที่มากกว่า 150,000 จนถึง 300,000 บ. เสีย 5% ซึ่งช่วงนี้ ก็คือเงินได้ของเราในช่วงนี้ทั้งหมด คือ 150,000 บ. ก็ต้องถูกนำมาคิดภาษี ในอัรา 5% ขั้นที่ 2 นี้ เราจะเสียภาษี = 150,000 X 5% = 7,500 บ.
แต่เงินได้ของเรา 314,900 บ. มีอยู่ในช่วงที่เกิน 300,000 บ.ขึ้นไปด้วย จึงยังไม่เสร็จ ต้องเดินก้าวขึ้นไปในขั้นบันไดถัดไปต่อ
มาขั้นที่ 3 เงินได้ที่มากกว่า 300,000 จนถึง 500,000 บ. เสีย 10% โดยที่เงินได้เรา จะอยู่ในช่วงนี้ 14,900 บ. เราก็นำตรงนี้มาคูณด้วยอัตราภาษี 10% = 14,900 บ. X 10% = 1,490 บ.
จะเห็นว่าเงินได้เราสุดอยู่ตรงขั้นนี้ ก็ไม่ต้องเดินต่อไปในขั้นถัดไป ทีนี้เราก็เอาแต่ละขั้นที่เราสะสมไว้ในทั้ง 3 ขั้น มาเป็นภาษีที่เราต้องจ่าย แบบนี้
= 0 บ. + 7,500 บ. + 1,490 บ.= 8,990 บ.
สรุป ภาษีที่เราต้องเสียทั้งปีก็จะเท่ากับ 8,990 บ.
ถ้าเรามีลักษณะของรายได้หลายแบบ ให้นำแต่ละเงินได้มาหักด้วยค่าใช้จ่ายแต่ละแบบก่อน หลังจากนั้นค่อยนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมารวมกันและไปหักค่าลดหย่อน เช่น คุณหมอเอ มีรายได้ เงินเดือนเป็น 40(1) รายได้เอกชนเป็น 40(6)
[(เงินได้ 40(1) – ค่าใช้จ่ายตาม 40(1)) + (เงินได้ 40(6) – ค่าใช้จ่ายตาม 40(6))} – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
การคำนวณภาษีที่เล่าไปก่อนหน้าคือการคำนวณภาษีแบบขั้นบันได แต่ถ้าเรามีรายได้ลักษณะอื่นที่ไม่ใช้เงินเดือน เกิน 1,000,000 บ. ต้องลองคำนวณแบบเหมา ซึ่งการคำนวณแบบเหมาคือ
ภาษี = รายได้อื่นที่ไม่ใช่ 40(1) x 0.005
ก็คือ ล้านละ 5,000 บ.
แต่จะใช้ภาษีที่ได้จากการคำนวณแบบเหมานี้ก็ต่อเมื่อ คำนวณภาษีแบบเหมานี้ แล้วภาษีที่ต้องเสียสูงกว่าการคำนวณแบบขั้นบันไดนะ
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วแบบขั้นบันไดมักเสียเยอะกว่า
อันไหนเสียมากกว่า ต้องใช้อันนั้นนะ
การวางแผนภาษี เราควรคำนวณภาษีตัวเองได้ว่า เราเสียภาษีเท่าไหร่ จะใช้โปรแกรมคำนวณก็ได้ แต่ยังไงเราควรรู้หลักการคิด เพื่อจะได้วางแผนกันได้ และอัตราภาษีเป็นลักษณะแบบขั้นบันได ที่เราต้องเอาภาษีที่เราต้องจ่ายในแต่ละขั้นมาบวกสะสมรวมกันไปทีละขั้น แบบตัวอย่างที่แสดงให้ดูนะ
ข้อมูลเพิ่มเติม ประกันสังคมของปี 2564 มีการลดเงินหักเข้าประกันสังลง สูงสุดตอนนี้คือ 5,100 บ. นะ
ส่วนกองทุนประหยัดภาษีปี 64 มี SSF, RMF ไม่มี SSFX นะ
————————————
มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง แบบเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น
การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
เรียนจบ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเลือกหุ้นลงทุนได้ด้วยตนเอง
เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้ ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย
