เงินเฟ้อเกี่ยวข้องกับดัชนีผู้บริโภคยังไง?? เงินเฟ้อทั่วไปกับเงินเฟ้อพื้นฐานคืออะไร?? ทำไมบางคนถึงรู้สึกของการเพิ่มของเงินเฟ้อต่างกัน?? ใครสงสัย สนใจ มาอ่านโพสนี้กัน…
สามารถรับชมแบบวีดีโอ ได้จากลิงค์นี้นะคะ
เงินเฟ้อ คือ การที่สินค้าและบริการโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าอาหาร ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าน้ำมัน ค่ายา ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่าห้องพัก และอื่นๆ
ซึ่งการวัดเงินเฟ้อที่นิยมใช้คือ การใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Prices Index; CPI) ที่คิดมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทั่วไปที่ประชาชนใช้จ่ายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้า สำหรับประเทศไทย CPI นั้นจัดทำโดยกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
ที่ใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Prices Index; CPI) ในการดูเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจาก CPI เป็นดัชนีที่คำนวณจากตัวอย่างข้อมูลราคาของสินค้าและบริการทั่วประเทศ จึงสามารถบอกถึงราคาสินค้าและบริการที่ประชาชนทั่วไปต้องจ่ายเพื่อการครองชีพในชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงความเป็นจริง
ดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศไทย มีจำนวนรายการสินค้าและบริการ 430 รายการ ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ
1. หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
2. หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
3. หมวดเคหสถาน เช่น ค่าที่พัก ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
4. หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล
5. หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร เช่น ค่าโดยสารยานพาหนะ ยานพาหนะและเชื้อเพลิง เป็นต้น
6. หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ
7. หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
อัตราเงินเฟ้อ คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงโดยเฉลี่ยของราคาสินค้าและบริการ ซึ่งคิดอออกมาเป็น % เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 2% ก็คือราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการที่ประชาชนทั่วไปจ่ายสูงกว่าก่อนหน้า 2% หรือก็คืออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2% นั่นเอง
เงินเฟ้อแบ่งเป็น 2 ประเภท ที่เราควรรู้จัก คือ
1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทุกประเภทที่บริโภคโดยทั่วไป ครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในหมวดต่างๆ ตามที่เล่ามา
2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ที่ตัดรายการสินค้าออก 2 หมวด คือ หมวดอาหารสดและพลังงาน เพราะ 2 หมวดนี้เคลื่อนไหวขึ้นลงตามฤดูกาล และอยู่นอกเหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน ที่ตัดออกเพื่อให้เหลือแต่รายการสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดที่นโยบายการเงินกำกับดูแลได้
ดังนั้นเวลาที่เราเข้าไปดูรายงานของเงินเฟ้อ จะมีเขียนถึงเงินเฟ้อของ 2 ประเภทนี้นะ
ข้อสังเกตเพิ่มเติม
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคคำนวณจากราคาสินค้าและบริการนั้นมีหลายหมวดหมู่ หลายรายการ ดังนั้นถ้าบางรายการเพิ่ม แต่รายการอื่นๆ ถูกตรึงไว้หรือไม่เพิ่ม เช่น ตรึงค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ก็จะทำให้ภาพรวมของเงินเฟ้อเพิ่มไม่มากนักได้
2. ดัชนีราคาผู้บริโภคที่คำนวณจากราคาสินค้าและบริการที่เป็นภาพรวมของหลายหมวดหมู่ หลายรายการ ทั้งประเทศ แต่ละคนอาจมีความรู้สึกมากน้อยต่างจากภาพใหญ่รวมนี้ได้ ขึ้นกับรายการสินค้าและบริการที่เราใช้จ่ายอาจมีความแตกต่างในรายละเอียดของแต่ละคน บางคนจึงรู้สึกว่าเงินเฟ้อสูงกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ได้บ้าง
————————————
มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง แบบเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น
การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
เรียนจบ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเลือกหุ้นลงทุนได้ด้วยตนเอง
เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้ ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย
