ลองมาสำรวจสถานะการเงินของตนเองกันด้วย 7 อัตราส่วนทางการเงิน…
สนใจรับชมแบบวีดีโอ กดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
ก่อนอื่นมารู้จักงบการเงินเบื้องต้นก่อน งบการเงินส่วนบุคคลมี งบดุล และงบรายรับรายจ่าย
งบดุลนั้นก็มาจากหลักการสมดุล 2 ข้าง ลักษณะเดียวกับงบดุลของกิจการ คือ
ทรัพย์สิน = หนี้สิน + ทุน
ทรัพย์สิน จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.สินทรัพย์สภาพคล่อง คือ เงินสด และสิ่งที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว
2.สินทรัพย์ส่วนตัว คือ ทรัพยสินที่เราไว้ใช้เอง เช่น รถ บ้าน แต่ถ้าเป็นอสังหาที่เราเอาไว้ปล่อยเช่า จะไปอยู่ในสินทรัพย์ลงทุน
3. สินทรัพย์ลงทุน เช่น หุ้น กองทุนรวม อสังหาปล่อยเช่าหรือเก็งกำไรเพื่อขาย
ส่วนหนี้สิน จะแบ่งเป็นหนี้สินระยะสั้นที่ต้องจ่ายใน 1 ปี และหนี้สินระยะยาวที่คบกำหนดจ่ายเกินกว่า 1 ปี
งบดุลที่ดีคือ หนี้สิน น้อยกว่า ทุน ซึ่งทุน ก็คือ ทรัพย์สิน หักออกด้วยหนี้สิน คือ ส่วนที่เราเป็นเจ้าของจริงๆ ในงบดุลส่วนบุคคล จะเรียกว่า ก็คือ ความมั่งคั่งสุทธิ
รวยไม่รวย ดูที่ความมั่งคั่งสุทธิ
งบรายรับรายจ่าย เป็นงบที่บอกพฤติกรรมการใช้เงินของเราได้
รายได้จะแบ่งเป็น
– active income คือ รายได้ที่ต้องลงแรง ลงเวลาตลอด หยุดก็จะไม่มีรายได้เข้ามา เช่น รายได้จากเงินเดือน
– passive income คือ รายได้ที่เราไม่ต้องลงแรง ลงเวลาตลอด ถ้าเราหยุด ก็ยังมีรายได้เข้ามา ซึ่งรายได้ที่เป็น passive income คือรายได้ที่เกิดจากส่วนของ “สินทรัพย์ลงทุน” นั่นเอง
ส่วนรายจ่ายจะแบ่งเป็น 2 อย่างใหญ่ๆ คือ ค่าใช้จ่ายคงที่ จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการกู้หนี้ยืมสินมา ที่มีลักษณะที่ต้องจ่ายแน่นอน เช่น ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ซึ่งตรงนี้จะสัมพันธ์ กับงบดุล ตรงที่ ถ้าในงบดุลเรามีภาระหนี้สินมาก ก็จะเกิดค่าใช้จ่ายตรงนี้มาก
และค่าใช้ผันแปร เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ที่มีลักษณะแปรเปลี่ยนได้ในแต่ละเดือน
หลังจากที่พอเข้าใจงบการเงินส่วนบุคคล มารู้จักอัตราส่วนทางการเงินจะบอกสุขภาพทางการเงินของเราได้กัน
1. อัตราส่วนสภาพคล่อง คือ การนำสินทรัพย์สภาพคล่อง มาหารด้วย หนี้สินระยะสั้น เป็นการดูว่า เราสามารถจ่ายหนี้ระยะสั้นได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้นอัตราส่วนนี้ควรมากกว่า 1
2. อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐานที่เราต้องมีนั้น ไว้บอกว่า สินทรัพย์สภาพคล่อง มีพอใช้จ่ายได้กี่เดือน หรือที่เรียกกันว่า “เงินสำรองฉุกเฉิน” ที่เราควรต้องมีอย่างน้อยเท่ากับรายจ่ายเราประมาณ 3-6 เดือน เพื่อที่เวลาที่เราไม่มีรายได้เข้ามา เรายังมีเงินตรงนี้ไว้สำหรับใช้จ่ายได้
3. หนี้สินต่อสินทรัพย์ หนี้สินก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ อัตราส่วนนี้จะนำ หนี้สินรวม มาหารด้วย สินทรัพย์รวม ควรน้อยกว่า 50% ก็คือ สินทรัพย์ที่มีทั้งหมด มีเป็นหนี้สินไม่เกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็คือมีส่วนที่เราเป็นจ้าของมากกว่าหนี้สิน (เนื่องจาก สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน)
4. ความสามารถในการจ่ายหนี้ ถ้าให้ดีควรไม่เกิน 35% หรืออย่างมากที่สุดไม่เกิน 45% นั้น เช่น ถ้าเรามีรายได้ 100 บ. ต่อเดือน ไม่ควรต้องจ่ายหนี้เกิน 45 บ. เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีเงินในการไปจ่ายรายจ่ายอื่น และไม่มีเงินมาออม
5. อัตราส่วนการออม เราควรมีโอกาสในการสร้างความมั่งคั่ง ดังนั้นสัดส่วนเงินออมควรอย่างน้อย 10% ของรายได้ ขึ้นไป แต่ถ้ามีภาระมาก ก็ค่อยๆ ออมก่อนก็ได้ ถ้า 10% ไม่ไหว ก็เริ่มน้อยกว่านั้นก่อนก็ได้ แล้วค่อยๆ เพิ่ม
6. อัตราส่วนการลงทุน สินทรัพย์ลงทุนควรจะเกินครึ่งหนึ่ง (50%)ของความมั่งคั่งสุทธิ เพื่อที่จะได้มีโอกาสเพิ่มรายได้ที่เป็น passive income
7. อัตราส่วนความมั่งคั่ง คิดจาก รายได้จากสินทรัพย์ หารด้วย รายจ่าย ถ้าเรามีมีรายได้จากสินทรัพย์ มากกว่า ค่าใช้จ่ายไปตลอด จะทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน และสามารถอยู่ได้แม้ว่าจะไม่ทำงานก็ตาม ดังนั้นอิสรภาพทางการเงินของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นกับค่าใช้จ่ายของแต่ละคนด้วย
ลองสำรวจสภาวะการเงินของตนเองดูกันนะ และหลังจากที่เราได้สำรวจการเงินของตัวเองแล้ว ก็มาดูว่า เราจะปรับตรงจุดไหนให้ดีขึ้นได้บ้าง ลองทำกันดูนะ
————————————————–
มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
เรียนจบสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ เพื่อเลือกหุ้นลงทุนได้ด้วยตนเอง
เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้
ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย
