3 ตัวช่วยเก็บเงินเกษียณ และได้ประโยชน์ทางภาษี สำหรับมนุษย์เงินเดือน มีอะไรบ้าง มาอ่านกัน…
ประกันสังคม เป็นตัวช่วยหนึ่งสำหรับเงินเกษียณ ถึงจะไม่ได้มาก แต่ก็เป็นสิทธิหนึ่งที่เราได้รับจากประกันสังคมที่เราถูกหักไปในแต่ละเดือน
ประกันสังคม หักเงินสมทบจากเงินเดือนเราเข้า ปกส. โดยคิด 5% ของเงินเดือน โดยคิดเพดานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บ. จึงหักเงินสมทบสูงสุด 750 บ./เดือน
ส่วนของนายจ้างก็จะสมทบเข้ามาในลักษณะเดียวกัน
หนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่เราได้รับ คือ กรณีชราภาพ ซึ่งจะได้เมื่ออายุครบ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ส่วนจะได้เป็นบำนาญ หรือบำเหน็จขึ้นกับจำนวนเดือนที่เราหักเงินเข้าประกันสังคม ตัดที่ 180 เดือน ลองอ่านในภาพประกอบนะจะได้เข้าใจมากขึ้น

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
หลายคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน และที่ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ซึ่งจะเป็นเงินสะสมของเรา ที่เรายินยอมให้หักเท่าไหร่ (กี่ % ของเงินเดือน) และในส่วนที่นายจ้างจ่ายสมทบเพิ่มให้ เข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทนั้นมี และบางที่มีแผนให้เราเลือกลงทุนให้เกมาะกับตัวเองได้ด้วย
เงินที่ออกจาก PVD จะได้ยกเว้นภาษี เมื่ออายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิก PVD อย่างน้อย 5 ปี ซึ่งจะมี เงินสะสม เงินผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ
เงินที่จะได้รับเพื่อเกษียณตรงนี้ ก็จะขึ้นกับเงินที่เราสะสมมากน้อยเท่าไหร่ในแต่ละเดือน นายจ้างช่วยเท่าไหร่ และแผนการลงทุนที่จะทำให้เงินนั้นงอกเงยได้มากน้อยแค่ไหน
ควรลองคำนวณว่า เราจะใช้เครื่องมือนี้สำหรับการเกษียณเท่าไหร่ ควรหักเงินสะสมเท่าไหร่ และเลือกแผนลงทุนที่เหมาะกับตัวเองด้วย ทั้งในแง่ความผันผวนที่เรายอมรับได้ด้วยนะ
เงินสะสมที่เราหักเข้า PVD ในแต่ละปี สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และประโยชน์ทางภาษีตรงนี้ สรรพากรไม่ทวงคืน การได้ประโยชน์ทางภาษีสำหรับ PVD นั้นก็คือ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 500,000 บ.
และก็มีเพิ่มเติมเรื่องการลดหย่อนภาษีนะว่า เมื่อรวม PVD + SSF+ RMF+ ประกันบำนาญ แล้วทั้งหมดลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บ. นะ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือที่ชอบเรียกกันย่อ ๆ ว่า PVD มีข้อเด่นที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ก็ควรศึกษาเงื่อนไขให้เข้าใจ และเลือกแผนลงทุนให้เหมาะกับเราด้วยนะ เพื่อวางแผนในการเกษียณสุขนะ

RMF และ ประกันบำนาญ เป็นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุ และใช้ลดหย่อนภาษีได้ทั้งคู่ ซึ่งในแต่ละแบบก็จะมีเงื่อนไข และลักษณะแตกต่างกันนะ
RMF(Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งเงื่อนไขของ RMF แบบนี้…
– ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30%ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บ. เมื่อรวมกับ SSF/ประกันบำนาญ/PVD/กบข./กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช.
– ไม่มีกำหนดการซื้อขั้นต่ำ แต่ต้องลงทุนทุกปี ขาดได้ไม่เกิน 1 ปีติตต่อกัน
– ขายคืนได้ อายุตั้งแต่ 55 ปี และถือครองมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยเป็นการนับแบบวันชนวัน ปีชนปี และมองทั้งชุดครบ 5 ปี โดยดูวัน ที่ซื้อลงทุนครั้งแรกเป็นสำคัญ
ซึ่งเราจะเห็นกันว่า RMF นั้นมีตั้งแต่ที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงน้อยอย่างกองทุนรวมตลาดเงิน ไปจนถึงสินทรัพย์ที่มีความผันผวนมากอย่างหุ้น ทองคำ น้ำมัน ที่สามารถลงทุนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ดังนั้นผลตอบแทนและความผันผวนระหว่างทาง ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะสินทรัพย์ที่เราเลือกลงทุน สามารถสลับสับเปลี่ยนกอง RMF ด้วยกันได้ และทุกกองของ RMF นั้นไม่มีปันผล
การขายคืน RMF แบบถูกเงื่อนไข จะขายคืนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีปริบูรณ์ และลงทุนมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี และสามารถขายคืนได้ทั้งหมดทุกก้อนที่เคยซื้อมา แต่ถ้าเราจะถือไว้ และค่อยๆ ขายเพื่อค่อยๆ นำเงินออกมาใช้ตอนเกษียณ ก็สามารถทำได้ ซึ่งเงินที่ยังอยู่ในกองนั้นก็ได้ผลตอบแทนตามแต่ละกองที่เราลงทุนไว้ ตรงนี้ก็จะขึ้นกับเราบริหารเงินของเรา

ส่วนประกันบำนาญนั้น เป็นการเก็บออมเพื่อการเกษียณอย่างหนึ่ง ซึ่งประกันบำนาญสามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บ. แต่ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตทั่วไป อาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บ.
เช่น ถ้าเรามีรายได้ 1,000,000 บ. ซื้อประกันบำนาญไป 200,000 บ. และประกันชีวิตทั่วไป 100,000 บ. เราจะสามารถนำมาลดหย่อนในส่วนประกันบำนาญได้แค่ 150,000 บ. เท่านั้น เพราะคิดเป็น 15% ของรายได้
แต่ถ้าเราซื้อประกันชีวิตทั่วไปแค่ 50,000 บ. ยังเหลือส่วนสิทธิประกันชีวิตทั่วไปอีก 50,000 บ. เราสามารถนำส่วนของเบี้ยบำนาญอีก 50,000 บ. ไปหักลดหย่อนเป็นประกันชีวิตทั่วไปได้
และเมื่อรวมกับ SSF/RMF/PVD/กบข./กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช. แล้วไม่เกิน 500,000 บ.
ซึ่งการจ่ายเบี้ยนั้น เดี๋ยวนี้ก็มีทั้งแบบสั้น แบบยาว เช่น 1 ปี, 5 ปี, 10 ปี, 20 ปี ตามแต่ที่กรมธรรม์นั้นกำหนดไว้
ส่วนการได้รับผลตอบแทนนั้น จะไม่มีเงินคืนให้ระหว่างทาง แต่จะจ่ายเงินคืนให้เราเป็นจำนวนเท่า ๆ กันทุกปี ตั้งแต่เริ่มเกษียณ อายุ 55 ปี ไปจนถึงอายุ 85, 90, 95 หรือ 99 ปี ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งจะเห็นว่ามีความคล้ายกับ “เงินบำนาญ”
ผลตอบแทนถ้าคิดจากเงินที่เราจ่ายเบี้ยเข้าไปกับที่ต้องที่ทิ้งไว้ในนั้นนาน เมื่อคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีอาจไม่สูง แต่ผลตอบแทนที่ได้แน่นอน ถ้าเราทำได้ครบตามที่เขากำหนดไว้ และข้อเด่นคือ ให้ผลตอบแทนไปจนถึงอายุมากๆ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีไปจนถึง 95 หรือ 99 ปี ได้
RMF และ ประกันบำนาญ เป็นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุ และใช้ลดหย่อนภาษีได้ทั้งคู่ ควรพิจารณาเงื่อนไข ข้อเด่น-ข้อด้อย เพื่อเลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการเก็บเงินเพื่อเกษียณ
————————————
มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง แบบเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น
การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
เรียนจบ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อเลือกหุ้นลงทุนได้ด้วยตนเอง
เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้ ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย
