5 แบบเงินฝาก ไม่เสียภาษี

เงินฝากออมทรัพย์ของทุกธนาคารพาณิชย์รวมกัน ได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บ.ต่อปี ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% (ถ้าได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ น้อยกว่า 20,000 บ. ต่อปี ได้รับยกเว้นภาษีนะ) และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ก็ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% มีทางเลือกอะไรบ้าง สำหรับเงินฝาก ที่ได้ดอกเบี้ยแบบไม่ต้องเสียภาษี มาอ่านกัน 5 แบบเงินฝาก ที่ไม่เสียภาษี

สนใจรับชมแบบวีดีโอ กดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ

เงินฝากออมทรัพย์ของทุกธนาคารรวมกัน ได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บ.ต่อปี ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ตรงนี้ขอเน้นว่า เป็นดอกเบี้ยที่ได้รับนะ ไม่ใช่เงินต้น

ซึ่งจะเห็นว่า ถ้าบัญชีออมทรัพย์นั้น ได้ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี ต้องมียอดเงินฝาก เกิน 4,000,000 บ. ถึงจะได้รับดอกเบี้ย เกิน 20,000 บ. ต่อปี

และถ้าได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์เกิน 20,000 บ. จะคิดภาษีตั้งแต่บาทแรกนะ ไม่ใช่ว่า คิดเฉพาะส่วนที่เกิน 20,000 บ. เช่น ได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ 25,000 บ. ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 25,000 x 15% = 3,750 บ.

แบบนี้ ถ้ากระจายหลายธนาคารได้ไหม เพื่อให้ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์แต่ละธนคารไม่เกิน 20,000 บ. จะได้ ไม่ต้องถูกหักภาษี ซึ่งจะเลี่ยงแบบนั้น น่าจะไม่ได้ เพราะตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 55)

“ข้อ 5  กรณีผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 2 จากทุกธนาคารรวมกัน มีจำนวนทั้งสิ้นเกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น ให้แจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว เพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 50 (2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยแต่ละแห่งได้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นเกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้นให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากนั้นหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 50 (2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร”

ซึ่งเมื่อปี 2562 มีเรื่องการให้ความยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้สรรพากรนะ

ส่วนถ้าได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ น้อยกว่า 20,000 บ. ต่อปี ได้รับยกเว้นภาษีนะ ดังนั้นถ้ายอดเงินฝากไม่มาก ไม่ได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 บ. ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีตรงนี้

ส่วนถ้าเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% นะ

ถ้ามีเงินออมมาก จะมีทางเลือกอะไรบ้าง สำหรับเงินฝาก ที่ได้ดอกเบี้ยแบบไม่ต้องเสียภาษี มาค่อยๆ อ่านกันต่อ

1. เงินฝากเผื่อเรียกของธนาคารออมสิน และสลากออมสิน

เงินฝากเผื่อเรียกของธนาคารออมสิน ก็คล้ายกับออมทรัพย์ ได้ดอกเบี้ยประมาณ 0.25% ต่อปี ซึ่งไม่เสียภาษี

และสลากออมสิน ก็ไม่เสียภาษี และรางวัลที่ได้ก็ไม่เสียภาษี ซึ่งจะมีระยะเวลา 1 ปี , 2 ปี ถอนก่อนอาจถูกหักเงินบางส่วน ตรงนี้ต้องอ่านเงื่อนไข และวางแผนการออมเงินให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดด้วยนะ

2. เงินฝากออมทรัพย์และสลากออมทรัพย์ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส)

เงินฝากออมทรัพย์ของ ธ.ก.ส. และมีให้เลือกหลายแบบ ดอกเบี้ยประมาณ   0.15-0.45% ต่อปี  ขึ้นกับลักษณะบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นั้นๆ ซึ่งดอกเบี้ยที่ได้รับก็ไม่เสียภาษี

สลาก ธ.ก.ส. ผลตอบแทนที่ได้ ไม่เสียภาษี ซึ่งมีระยะเวลารับฝาก ถ้าถอนก่อน อาจถูกหักเงินบางส่วนได้ อ่านเงื่อนไข และวางแผนการออมเงินให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดด้วยนะ

3. เงินฝากสหกรณ์

ดอกเบี้ยมักสูงกว่าธนาคาร และไม่เสียภาษี ซึ่งสหกรณ์ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าฝากเงินในธนาคาร อัตราดอกเบี้ยขึ้นกับลักษณะของบัญชีเงินฝาก และตามแต่สหกรณ์กำหนด

4. เงินฝากประจำปลอดภาษี

เงินฝากประจำที่ไม่เสียภาษี 1 คน มีได้เพียง 1 บัญชี ซึ่งเงินฝากประจำปลอดภาษีมีระยะเวลา 24 เดือน 36 เดือน  48 เดือน แล้วแต่ธนาคาร และมีเงื่อนไขที่เพิ่มเติมจากเงินฝากประจำทั่วไป คือ ต้องฝากทุกเดือน ไม่เดือนละเกิน 25,000 บ. สำหรับ 24 เดือน ไม่เกิน 16,500 บ./เดือน สำหรับ 36 เดือน และไม่เกิน 12,500 บ./ เดือน สำหรับ 48 เดือน (รวมสูงสุดไม่เกิน 600,000 บ.)

5. เงินฝากประจำผู้สูงอายุ

สำหรับผู้ที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป และฝากประจำตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกบัญชีรวมกัน ไม่เกิน 30,000 บ.ต่อปี ได้รับยกเว้นภาษี

อีกทางเลือกหนึ่ง คือ ลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนพอๆ กับเงินฝากประจำ ส่วนต่างกำไร  ไม่เสียภาษี มีสภาพคล่อง  T+1 คือ ถ้าสั่งขาย จะได้เงินอีก 1 วันทำการ เช่น สั่งขายวันจันทร์ จะได้เงินวันอังคาร แต่ถ้าสั่งขายวันศุกร์ จะได้เงินวันจันทร์นะ เพราะเสาร์ อาทิตย์เป็นวันหยุดนะ

ลองดูทางเลือกเหล่านี้ เพื่อจะได้ไม่เสียภาษีนะ

————————————

มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง

คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น

ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น

เรียนจบสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อเลือกหุ้นลงทุนได้ด้วยตนเอง

เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้ ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย

Advertisement

Published by DoctorWantTime

แพทย์ผู้ชื่นชอบการลงทุน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: