สรุป 3 กองทุนประหยัดภาษีปี 2563

ปี 2563 นี้ จะมีกองทุนประหยัดภาษีอยู่ 3 แบบ คือ SSFX, SSF, RMF ซึ่งกองทุน SSFX และ SSF นั้น บลจ. ต่างๆ ได้ทยอยออกมาให้เราเลือกลงทุนตั้งแต่ 1 เมษายน นี้ ถ้าใครสนใจกองทุนประหยัดภาษี ก็ควรศึกษาเงื่อนไขให้ดีก่อนลงทุน เพราะจะได้ไม่มีความยุ่งยากตามมา ซึ่งในโพสนี้ได้เล่าถึงเงื่อนไขเหล่านี้ แบบเข้าใจง่ายๆ ไปอ่านกัน

สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ


เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีสำหรับ SSF เป็นแบบนี้…
1. ซื้อได้สูงสุด ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บ. และเมื่อนำไปรวมกับกลุ่มการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ ได้แก่ PVD, กบข., RMF, เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ, เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, เงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บ. ในปีภาษีเดียวกัน

2. ใช้สำหรับลดหย่อนปีภาษี 2563 ถึงปีภาษี 2567 ซื้อปีไหนก็ลดหย่อนได้ปีนั้น จะเห็นว่าการกำหนดไว้ว่าจะใช้ลดหย่อนได้ถึงแค่ปี 2567 หลังจากนั้นต้องดูอีกทีว่ารัฐบาลจะต่ออายุ หรือจะออกนโยบายมาในรูปแบบไหนก็ต้องติดตามอีกที

3. SSF ไม่จำกัดสินทรัพย์ในการลงทุน และจะมีปันผลหรือไม่ปันผลก็ได้ กองนั้นอาจจะลงทุนในหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือ ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ น้ำมัน ก็ได้ ส่วนเราสนใจการลงทุนในสินทรัพย์ไหน ก็เลือกที่เราสนใจและรับความเสี่ยงได้ แต่ไม่ใช่ลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปก็นำมาลดหย่อน SSF ได้นะ ต้องเป็นกองที่เขาบอกว่าเป็น SSF นะ

4. ต้องถือหน่วยลงทุน ไม่น้อยกว่าสิบปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน นับแบบวันชนวันนะ เช่น ซื้อเมื่อ 1 เมษายน 2563 ก็จะขายคืนได้ 2 เมษายน 2573

5. ไม่มีการกำหนดการซื้อขั้นต่ำ ในการใช้ลดหย่อนภาษี แต่อาจมีการกำหนดการซื้อขั้นต่ำในแต่ละตามที่กองนั้นๆ กำหนดไว้

6. เงินผลประโยชน์จากการคืนหน่วยลงทุน ที่เป็นไปตามเงื่อนไข จะได้รับยกเว้นไม่ต้องมารวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีนะ ส่วนเงินปันผลต้องเสียภาษีนะ

และเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 63 มีการตกลงของตลาดหุ้นลงมาเรื่อยๆ จากปัจจัย เรื่องโรคระบาดที่เกิดขึ้น ความกังวลต่างๆ ของนักลงทุน และในปีนี้ก็จะไม่มีเม็ดเงินของ LTF ที่เข้ามาในตลาดหุ้นไทย รัฐบาลจึงได้ออกมาตราการพิเศษเพื่อช่วยเหลือตลาดหุ้น ตามที่ประชุม ครม. เมื่อ 10 มีนาคม 2563 ได้มีการออกนโยบายลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม สำหรับ SSF กรณีพิเศษ เพื่อหวังว่า จะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยดีขึ้นที่ชื่อว่า SSFX หรือ Super Saving Fund Extra หรือกองทุนเพื่อการออมพิเศษ ซึ่งมีข้อแตกต่างจาก SSF ปกติที่มีออกมาก่อนหน้า แบบนี้
1. กอง SSFX นี้ต้องลงทุนในหุ้นไทยอย่างน้อย 65% ของทรัพย์สินของกองทุน กองนั้นจะมีปันผลไรือไม่ปันผลก็ได้

2. ต้องซื้อเฉพาะในช่วง 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 63 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษี สำหรับปีภาษี 2563 นี้เท่านั้น มีปีนี้ปีเดียว

3. ลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บ. โดยไม่ต้องสนใจว่าจะคิดเป็น % ของรายได้เท่าไหร่ และวงเงินลดหย่อนนี้ไม่ต้องนำไปรวมกับการเก็บเงินเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ เพื่อลดหย่อนภาษี

4. ในส่วนที่คล้ายกับ SSF เดิมคือ ต้องถือครบ 10 ปี นับแบบวันชนวัน ไม่มีการกำหนดการซื้อขั้นต่ำ และไม่ต้องลงทุนทุกปี เงินผลประโยชน์จากการคืนหน่วยลงทุน ที่เป็นไปตามเงื่อนไข จะได้รับยกเว้นไม่ต้องมารวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี

จะเห็นว่าคนที่จะลงทุน SSFX นั้นต้องเป็นคนที่มีรายได้ที่ต้องเสียภาษี และจะเหมาะมากขึ้น ถ้าปกติใช้กลุ่มก้อนการลดหย่อนเพื่อการเกษียณเต็มเพดานแล้ว และยอมรับความเสี่ยงและความผันผวนของตลาดหุ้นไทยได้
ซึ่งตอนนี้ บลจ. ต่างๆ ได้ทยอยออกทั้งกอง SSF และ SSFX ออกมา ถ้าเราสนใจก็ควรศึกษาเงื่อนไข และศึกษา Fund Fact Sheet ก่อนลงทุนในกองนั้นด้วยนะ


แต่ไม่ว่าจะเป็น SSF, SSFX นั้นต้องถือ 10 ปีโดยนับแบบวันชนวัน และนับแต่ละก้อนที่ซื้อมา ไม่ได้นับแบบปีปฏิทินแบบ LTF นะ เช่น ซื้อ SSFX 50,000 บ. เมื่อ 1 เมษายน และซื้อ SSFX อีกก้อน 50,000 บ. เมื่อ 5 พ.ค. 63 ในปีภาษี 63 นี้จะนำ SSFX ไปลดหย่อนได้ทั้งหมด 100,000 บ. โดยจะครบเงื่อนไข ก้อนที่ 1 ที่ซื้อเมื่อ 1 เมษายน 63 คือ 2 เมาษยน 73 ส่วนก้อนที่ซื้อตอน 5 พ.ค. 63 จะขายได้ตั้งแต่ 6 พ.ค 73

ประเด็นเรื่องการถือครองตรงนี้ จึงทำให้เราควรพิจารณาเรื่องของสภาพคล่องของเราด้วยว่า เงินที่นำมาลงทุนจะต้องไม่เป็นเงินที่จำเป้นต้องใช้จ่าย ภายใน 10 ปีนี้


เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของ RMF ตั้งแต่ปีภาษ๊ 2563 เป็นต้นไป มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ 2 ประเด็นหลักที่สำคัญคือ…
1. เพดานในการใช้ลดหย่อนภาษี จากเดิม ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บ. เมื่อรวมกับประกันบำนาญ/PVD/กบข./กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช. เปลี่ยนเป็น ไม่เกิน 30%ของรายได้ และเพดาน 5 แสนบาทนั้น นอกจากต้องรวมเงินออมเพื่อการเกษียณอื่นแล้ว ต้องนำ SSF มารวมด้วย แต่ไม่ต้องนำ SSFX มารวม

2. ยกเลิกการกำหนดการซื้อขั้นต่ำ จากเดิม กำหนดซื้อขั้นต่ำอย่างน้อย 3% ของรายได้ หรือ 5,000 บ. แล้วแต่จำนวนไหนต่ำกว่า เปลี่ยนเป็นไม่มีการกำหนดการซื้อขั้นต่ำ แต่ยังต้องลงทุนทุกปี ขาดได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกันเหมือนเดิมนะ

ส่วนเงื่อนไขการถือครองของ RMF กับนโยบายการลงทุน ซึ่งทุกกองไม่มีปันผลก็ยังเหมือนเดิมนะ

เงื่อนไขการถือครอง ต้องถือไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) โดยจะนับเฉพาะปีที่ลงทุนเท่านั้น และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะขายคืนได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข และขายคืนได้ทั้งหมดที่ซื้อมา

เช่น มานีจะมีอายุครบ 55 ปี วันที่ 1 สิงหาคม 62
โดยมานีเริ่มลงทุน RMF ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 57
และลงทุนต่อเนื่องมาทุกปี ในปี 2558, 2559, 2560, 2561, 2562

มานีจะขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดของ RMF ทุกกองที่ซื้อมาตั้งแต่ 2557-2562 ได้ตั้งแต่ 2 ธันวาคม 62 เป็นต้นไป
เพราะถือครบ 5 ปี โดยนับจากวันที่เริ่มซื้อหน่วยลงทุนวันแรก (1 ธันวาคม 57) เป็นหลัก และ อายุตั้งแต่ 55 ปี โดยกฏหมายจะถือ RMF ชุดนี้ทั้งหมดตั้งแต่ 2557-2562 ถือต่อเนื่องมาครบ 5 ปีแล้ว

โดยการนับจะถือการลงทุนครั้งแรกเป็นสำคัญ เพื่อใช้สำหรับการครบเงื่อนไขเพื่อการขายคืนนะ
ซึ่งจะเห็นว่า ถ้าอายุตั้งแต่ 45 ขึ้นไป จะยิ่งเหมาะกับการลงทุนใน RMF เนื่องจากจะสามารถขายได้ทั้งหมดทุกก้อนที่ซื้อมาเมื่อครบกำหนดเงื่อนไข ถ้าอยากขาย
การเก็บเงินเพื่อการเกษียณ เป็นเรื่องที่ควรวางแผนไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มทำงานนะ ยิ่งถ้าใครไม่มีการลงทุนกับกองทุนบำเหน็จบำนาญ (กบข.) หรือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD) การลงทุนใน RMF ก็น่าสนใจ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายสินทรัพย์การลงทุน เป็นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ และใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย อีกทั้งเกณฑ์ใหม่ก็มีการยืดหยุ่นมากขึ้นที่ไม่การกำหนดการซื้อขั้นต่ำไว้

E-book: ก้าวสู่เป้าหมายด้วยกองทุนรวม

Published by DoctorWantTime

แพทย์ผู้ชื่นชอบการลงทุน

ใส่ความเห็น