หลายคนที่ลงทุนกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายจ่ายปันผล ซึ่งปีนี้หลายกองประกาศงดจ่ายปันผล บางคนอาจสงสัยว่า กองทุนก็ได้เงินปันผลจากหุ้นที่กองทุนถืออยู่มา แต่ทำไมไม่จ่ายปันผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุน
ถ้าสนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้ทางลิงค์นี้นะคะ
มาทำความเข้าใจก่อนว่า เงินปันผลของ “หุ้น” นั้น มาจาก กิจการหรือบริษัทนั้นทำกำไรได้จากการประกอบ ธุรกิจ แล้วแบ่งส่วนหนึ่งจ่ายออกมาเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น อีกส่วนเก็บไว้ทำทุนขยายกิจการต่อ แต่เงินปันผลของ “กองทุนรวม” นั้นเงินปันผลจะจ่ายออกมาจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมหรือ NAV ซึ่งเมื่อกองทุนจ่ายปันผล จะทำให้ NAV ลดลงพอๆ กับเงินที่กองทุนปันผลออกมา
ซึ่ง NAV หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนนั้น คิดมาจาก มูลค่าทรัพย์สินของกองทุนตามราคาตลาด (Mark to market) รวมถึงเงินผลประโยชน์ที่กองทุนได้รับ หักด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุน และเมื่อนำ NAV มาหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด ก็จะได้ออกมาเป็นมูลค่าหน่วยลงทุน หรือ NAV ต่อหน่วย
ซึ่งจะเห็นว่าประเด็นหลักในการทำให้ NAV ปรับเพิ่มได้ ก็จะมาจากมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนถือมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมูลค่าทรัพย์สินนี้จะคำนวณตามราคาตลาด ซึ่งถึงแม้กองทุนจะไม่ได้ขายทรัพย์สินนั้นออกมา ก็จะถูกคำนวณมูลค่านี้เกิดขึ้น เช่น กองทุนรวมหุ้น มูลค่าทรัพย์สินตรงนี้ก็จะขึ้นกับราคาปิดของหุ้นที่กองทุนถืออยู่ ดังนั้นถ้าหุ้นที่กองถืออยู่ราคาขึ้น ก็จะทำให้ NAV ของกองทุนสูงขึ้น แต่ถ้าไปในทางตรงกันข้าม ก็จะทำให้ NAV ลดลง
ส่วนเงินผลประโยชน์ที่กองทุนได้รับ เช่น เงินปันผลจากหุ้นที่กองทุนถืออยู่ หรือดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนอยู่ เงินที่เข้ามาตรงนี้ก็จะทำไห้ NAV เพิ่มขึ้นได้
ส่วนค่าใช้จ่ายของกองทุน เช่น ค่าธรรมเนียม TER (total expense ratio) ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกนำมาหักเฉลี่ยเป็นรายวัน ไม่ว่าวันนั้นมูลค่าของกองทุนจะเพิ่มหรือลด ก็จะมีค่าใช้จ่ายตรงนี้หักเข้ามา
ดังนั้น จะเห็นว่า ถ้ากองทุนรวมหุ้นนั้น จะได้รับเงินปันผลจากหุ้นที่กองทุนถืออยู่ แต่ราคาหุ้นที่กองทุนถืออยู่ราคาตกลง จนทำให้ NAV ของกองลดลง (คือขาดทุนจาก capital gain) ซึ่งจะทำให้กองทุนไม่สามารถจ่ายปันผลออกมาได้ เช่น มูลค่าหน่วยลงทุนเมื่องวดก่อนหน้า 20 บ. แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านของปีนี้ ราคาหุ้นไทยตกลงมาอย่างมาก ทำให้มูลค่าหน่วยลงทุนลดลงจากเดิม 15% เหลือ 17 บ.แสดงว่า กองทุนบริหารแล้วขาดทุนอยู่ จึงไม่ปันผลออกมา ถึงแม้จะเป็นกองทุนรวมนั้นที่มีนโยบายจ่ายปันผลก็ตาม เพราะกองทุนจะจ่ายปันผลออกมาจากกำไรสะสม หรือ กำไรสุทธิในงวดบัญชีนั้นๆ โดยการจ่ายปันผลออกมาจะต้องไม่ทำให้กองทุนมีขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นในงวดที่มีการจ่ายปันผล
แต่ถ้าในกรณีที่ กองทุนไม่ได้รับเงินปันผลจากหุ้นที่กองทุนถืออยู่ แต่ภาพรวมราคาหุ้นที่กองทุนถืออยู่ราคาขึ้นจนทำให้ NAV ของกองทุนเพิ่มขึ้น กองทุนก็สามารถจ่ายปันผลได้
ซึ่งนโยบายการจ่าย หรือ ไม่จ่ายของกองทุนนั้น จะมีเขียนไว้ใน หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ

ส่วนรายละเอียดว่า หลักเกณฑ์การจ่ายปันผล จะมีเขียนไว้ในหนังสือชี้ชวนฉบับเต็ม หัวข้อ “การจ่ายปันผล”

และถ้าเราต้องการรู้ว่า ตกลงจะมีการจ่ายหรือไม่จ่ายปันผล และถ้าจ่ายจะจ่ายเมื่อไหร่ สามารถเข้าไปในแต่ละ บลจ. ที่กองทุนรวมนั้นอยู่ และหาหัวข้อ “ประกาศกองทุนรวม”
ดังนั้นถึงกองทุนรวมหุ้นนั้นจะได้รับเงินปันผลจากหุ้นที่กองทุนลงทุนอยู่ แต่มีผลขาดทุนจากส่วนต่างๆ ราคา (ขาดทุนจาก capital gain) ทำให้ NAV ลดลง ทำให้กองทุนไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ ดังนั้นกองทุนที่มีนโยบายจ่ายปันผล เป็นนโยบายว่า ถ้ามีกำไร ก็จ่ายได้ แต่ถ้ามีผลขาดทุน ก็อาจงดจ่ายได้
