เมื่อเวลาที่เราดูในตารางสรุปงบการเงิน เราจะเห็นบรรทัด มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว ซึ่งหลายๆ บริษัทก็จะมีค่านี้คงที่ไปเรื่อยๆ แล้วมูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วคืออะไร ทำไมคงที่ถึงดี มาอ่านโพสนี้กัน…

ถ้าสนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว หรือทุนที่ออกและชำระมูลค่าแล้ว หรือ ทุนที่เรียกชำระแล้ว คือ เงินที่ผู้ถือหุ้นจ่ายเงินค่าหุ้นเข้ามาในบริษัทแล้ว ซึ่งบริษัทจะได้นำไปใช้เป็นทุนในการดำเนินกิจการได้
เช่น บริษัทมานีส้มตำ จำกัด มหาชน มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บ. มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 1,000,000 หุ้น ราคาพาร์ คือ 1 บ. และได้จำหน่ายหุ้นนี้ให้กับบุคคลต่างๆ ที่สนใจ ในราคาหุ้นละ 1 บ. คนที่สนใจซื้อหุ้นบริษัทนี้ก็มาซื้อหุ้น และจ่ายเงินเข้าบริษัททั้งหมด 1,000,000 บ. เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น 1,000,000 บ. ตรงนี้คือ ทุนที่เรียกชำระแล้ว หรือ มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนของกิจการ หรือ ส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง
โดยทุนของกิจการก็จะมาจากการการเรียกเก็บเงินจากผู้ถือหุ้น กับอีกส่วนหนึ่งของทุนของกิจการก็จะมาจากกำไรสะสมที่บริษัททำได้
เพราะเวลาที่บริษัทมานี ส้มตำ จำกัด มหาชนนี้ทำกำไรได้ในแต่ละปี ส่วนหนึ่งก็จะปันผลให้ผู้ถือหุ้น อีกส่วนก็จะเก็บไว้ทำทุนเพื่อขยายกิจการต่อไป ซึ่งตรงกำไรที่เก็บไว้ทำทุนตรงนี้ ก็จะเข้ามาเขียนอยู่ในส่วนของกำไรสะสมนั่นเอง ที่จะทำให้ส่วนของทุนหรือ ส่วนของผู้ถือหุ้นโตขึ้นเรื่อยๆ ได้
จากตรงนี้ก็จะเห็นว่า
ทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้น = มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้ว + กำไรสะสม
ทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้นนั้น ก็จะโตเพิ่มขึ้นได้จาก มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วเพิ่มขึ้น หรือกำไรสะสมที่เพิ่มขึ้น
และการที่มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วจะเพิ่มขึ้น ก็คือการออกหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งอาจจะเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม หรือออกขายให้กับบางคน หรือออกขายให้กับบุคลทั่วไป ก็ได้ อย่างตัวอย่างรูปด้านล่างที่ มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วเพิ่มขึ้น

กิจการที่ดี ควรจะมีส่วนของทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้น โตขึ้นเรื่อยๆ จากกำไรสะสมที่โตขึ้น เพราะแสดงว่า ไม่ต้องรบกวนผู้ถือหุ้นเติมเงินเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อไม่ออกหุ้นเพิ่มทุน มูลค่าหุ้นที่เรียกชำระแล้วตรงนี้ก็จะคงที่ไปเรื่อยๆ นั่นเอง
