เบี้ยประกันลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บ. ใช่หรือเปล่า??

ช่วงนี้คนที่ต้องเสียภาษี ก็เริ่มวางแผนภาษี และหาค่าลดหย่อนภาษีมาเพิ่มเติม ซึ่งอย่างหนึ่งที่หลายคนมักนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษี ก็จะเป็นเบี้ยประกัน และบางคนอาจเคยได้ยินว่า เบี้ยประกันสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 300,000 บ. การจะนำมาลดหย่อนได้ 3 แสนบาทนั้น ต้องอยู๋บนเงื่อนไขของอะไรบ้าง มาอ่านกัน…

เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปจะมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ และประกันชีวิตควบการลงทุน เราสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่เราทำของตัวเอง จากทุกกรมธรรม์ไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท
ซึ่งเบี้ยประกันชีวิตที่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นแบบประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป และถ้ามีเงินคืนทุกปีระหว่างสัญญา เงินคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่ถ้าคืนเป็นช่วงระยะเวลา เช่น คืนทุก 3 ปี หรือ 5 ปี เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสมของแต่ละช่วงเวลานะ

ซึ่งจะเห็นว่า เบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไป จะหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บ. อันนี้ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่ได้ขึ้นกับรายได้เราว่าเท่าไหร่

ส่วนอีก 200,000 บ. จะเป็นเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ แต่ก็มีเงื่อนไขที่จะนำไปลดหย่อนในส่วนของ 200,000 บ. ตรงนี้ เพราะจะขึ้นกับรายได้ทั้งปีของเราด้วย เพราะเบี้ยประกันแบบบำนาญ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บ.

เช่น ถ้าเรามีรายได้ 1,000,000 บ. แต่ซื้อประกันบำนาญไป 200,000 บ. และประกันชีวิตทั่วไป 100,000 บ. เราจะสามารถนำมาลดหย่อนในส่วนประกันบำนาญได้แค่ 150,000 บ. เท่านั้น เพราะคิดเป็น 15% ของรายได้ จะเห็นว่า ถ้ารายได้เราประมาณนี้ เราจะลดหย่อนจากประกันได้ มากที่สุด 250,000 บ. (100,000 บ. จากประกันทั่วไป อีก 150,000 บ. จากประกันบำนาญ) เท่านั้น

เพราะประกันบำนาญจะติดเรื่องรายได้ทั้งปีของเรา และต้องคิดด้วยนะว่าการลดหย่อนภาษีของประกันบำนาญนั้น ต้องนำมารวมกับอย่างอื่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)/ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/ RMF/ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กองทุนการออมแห่งชาติ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บ. ด้วยนะ และถ้าใครซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ก็ต้องนำมารวมในเพดาน 500,000 บ. นี้ด้วยนะ

ดังนั้นที่เขาบอกกันว่า ประกันสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บ. นั้น มาจากเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปซึ่งจะหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บ. ส่วนอีก 200,000 บ. จะเป็นเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งประกันบำนาญนั้นต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า เราต้องมีรายได้ทั้งปีอย่างน้อย 1,333,333 บ. (เพราะรายได้เท่านี้ พอคิด 15% จะได้ 200,000 บ.) นะ เมื่อรวมทั้ง 2 อย่างตามเงื่อนไข ก็จะลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บ.

หรือถ้าเรายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตทั่วไป อาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บ. จากประกันบำนาญได้ ตัวอย่างเดิม เรามีรายได้ 1,333,333 บ. แต่ซื้อประกันบำนาญไป 300,000 บ. แต่ไม่ได้ซื้อประกันทั่วไปเลย เราจะนำมาลดหย่อนในส่วนประกันบำนาญได้ 200,000 บ. และเราสามารถนำส่วนของเบี้ยบำนาญอีก 100,000 บ. ไปหักลดหย่อนเป็นประกันชีวิตทั่วไปได้นะ

การวางแผนประหยัดภาษีอย่างหนึ่งคือ การมองหาค่าลดหย่อนมาเพิ่มเติม แต่ก็อย่าลืมดูเงื่อนไขของสิ่งที่จะนำมาลดหย่อนด้วยนะ

ข้อควรรู้เพิ่มเติม: เบี้ยประกันสุขภาพของเราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีในปี 2563 ได้มีการปรับเพิ่มจาก 15,000 บ. เป็น 25,000 บ. แต่ 25,000 บ. ตรงนี้ ก็ไปรวมกับประกันชีวิตแบบทั่วไป แล้วไม่เกิน 100,000 บ. นะ

———————————–

E-book ก้าวสู่เป้าหมายด้วยกองทุนรวม ที่เล่าถึงเรื่องของกองทุนรวม ค่าต่างๆ ที่ควรรู้ก่อนลงทุน วิธีการเลือกกองทุนตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้น กองทุนประหยัดภาษี ใครสนใจสามารถเข้าไปทดลองอ่าน และสั่งซื้อได้จาก OOKBEE ตามลิงค์นี้นะคะ

และสามารถสั่งซื้อได้ทาง Meb ได้ด้วยเช่นกันค่ะ

Published by DoctorWantTime

แพทย์ผู้ชื่นชอบการลงทุน

ใส่ความเห็น