สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่วางแผนลดหย่อนภาษี มาอ่านกันว่า กองทุนประหยัดภาษีอย่าง SSF, RMF นั้นมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจ วางแผนการเงินของเราได้ และจะได้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไข เพื่อจะได้ไม่มีเรื่องปวดหัวยุ่งยากตามมาถ้าทำผิดเงื่อนไขนะ
สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
เงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีสำหรับ SSF เป็นแบบนี้
1. ซื้อได้สูงสุด ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บ. และเมื่อนำไปรวมกับกลุ่มการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ ได้แก่ PVD, กบข., RMF, เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ, เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน, เงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บ. ในปีภาษีเดียวกัน
2. ใช้สำหรับลดหย่อนปีภาษี 2563 ถึงปีภาษี 2567 ซื้อปีไหนก็ลดหย่อนได้ปีนั้น จะเห็นว่าการกำหนดไว้ว่าจะใช้ลดหย่อนได้ถึงแค่ปี 2567 หลังจากนั้นต้องดูอีกทีว่ารัฐบาลจะต่ออายุ หรือจะออกนโยบายมาในรูปแบบไหนก็ต้องติดตามอีกที
3. SSF ไม่จำกัดสินทรัพย์ในการลงทุน และจะมีปันผลหรือไม่ปันผลก็ได้ กองนั้นอาจจะลงทุนในหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือ ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ หรือสินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองคำ น้ำมัน ก็ได้ ส่วนเราสนใจการลงทุนในสินทรัพย์ไหน ก็เลือกที่เราสนใจและรับความเสี่ยงได้ แต่ไม่ใช่ลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปก็นำมาลดหย่อน SSF ได้นะ ต้องเป็นกองที่เขาบอกว่าเป็น SSF นะ
4. ไม่มีการกำหนดการซื้อขั้นต่ำ ในการใช้ลดหย่อนภาษี แต่อาจมีการกำหนดการซื้อขั้นต่ำในแต่ละตามที่กองนั้นๆ กำหนดไว้ และไม่ต้อลงทุนทุกปี จะซื้อแค่ปีนี้ปีเดียว และปีต่อไปหยุดซื้อก็ได้
5. ต้องถือหน่วยลงทุน ไม่น้อยกว่า 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน นับแบบวันชนวันนะ เช่น ซื้อเมื่อ 1 เมษายน 2564 ก็จะขายคืนได้ 2 เมษายน 2574 ถ้าครบกำหนด 10 ปีแล้วจะถือต่อไป ยังไม่ขายก็ได้
เงินผลประโยชน์จากการคืนหน่วยลงทุน SSF ที่เป็นไปตามเงื่อนไข จะได้รับยกเว้นไม่ต้องมารวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีนะ ส่วนเงินปันผลต้องเสียภาษีถึงแม้จะทำถูกเงื่อนไขก็ตามนะ
เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของ RMF คือ
1. เพดานในการใช้ลดหย่อนภาษี ไม่เกิน 30%ของรายได้ และเพดาน 5 แสนบาทนั้น นอกจากต้องรวมเงินออมเพื่อการเกษียณอื่นแล้ว ต้องนำ SSF มารวมด้วย
2. ซื้อปีไหน ก็ลดหย่อนปีไหน สำหรับ RMF ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะใช้ลดหย่อนได้ถึงปีไหนเหมือน SSF
3. RMF ไม่จำกัดสินทรัพย์ในการลงทุน แต่ทุกกอง RMF จะไม่มีปันผล
4. ไม่มีกำหนดการซื้อขั้นต่ำ แต่ยังต้องลงทุนทุกปี ขาดได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน ซึ่งการลงทุนใน RMF นั้น ไม่จำเป็นต้องลงกองุนเดิม ถ้าเราจะเปลี่ยนไปซื้อ RMF กองอื่น หรือ บลจ. อื่นก็ได้แล้วแต่เรา ขอแค่ปีนั้น มีการซื้อ RMF ก็พอ แต่การสับเปลี่ยนระหว่างกอง RMF หรือ ย้ายจาก PVD มา RMF ไม่ถือเป็นการซื้อลงทุน RMF ที่จะมาใช้ลดหย่อนภาษีนะ
5. เงื่อนไขการถือครอง ต้องถือไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ถึงจะขายคืนได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข และขายคืนได้ทั้งหมดที่ซื้อมา โดยการนับจะถือการลงทุนครั้งแรกเป็นสำคัญ เพื่อใช้สำหรับการครบเงื่อนไขเพื่อการขายคืนนะ
RMF ไม่ได้จำกัดอายุของผู้ซื้อนะ ถึงจะอายุ 55 ปี แล้วก็ยังสามารถซื้อลงทุน RMF เพื่อการลดหย่อนภาษีได้ แต่ถ้าเริ่มมาซื้อ RMF ตอนอายุ 54 ปี เพราะคิดว่าถือแค่ปีเดียว ก็ขายคืนได้ เพราะอายุครบ 55 ปี จะไม่ใช่นะ เพราะมีเงื่อนไขเรื่องของการลงทุนอย่างน้อย 5 ปีด้วย ดังนั้น ต้องลงทุนต่อเนื่องไปให้ครบ 5 ปีนะ ถึงจะขายคืนได้แบบถูกเงื่อนไข
ข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่อายุตั้งแต่ 65 ปี หรือผู้พิการที่มีบัตรผู้พิการ จะได้รับยกเว้นเงินได้ 190,000 บ. แรก ซึ่งสามารถนำไปหักออกจากเงินได้ประเภทใดก็ได้นะ ซึ่งจะมีช่อง “เงินที่ได้รับการยกเว้นกรณีเป็นผู้สูงอายุ /คนพิการที่มีอายุไม่เกิน 65 ปี” ตรงนี้จะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมนะ
———————————–
E-book ก้าวสู่เป้าหมายด้วยกองทุนรวม ที่เล่าถึงเรื่องของกองทุนรวม ค่าต่างๆ ที่ควรรู้ก่อนลงทุน วิธีการเลือกกองทุนตลาดเงิน ตราสารหนี้ หุ้น กองทุนประหยัดภาษี
ใครสนใจสามารถเข้าไปทดลองอ่าน และสั่งซื้อได้จาก OOKBEE ตามลิงค์นี้นะคะ
และสามารถสั่งซื้อได้ทาง Meb ได้ด้วยเช่นกันค่ะ
