3 รูปแบบของประกันที่ลดหย่อนภาษีได้

หลายๆ คนที่ต้องเสียภาษี ก็มักจะมีการใช้เบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษี ไปดูกันว่าประกันแบบไหน สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้บ้าง ได้เท่าไหร่บ้าง และจะกรอกยังไงเวลายื่นภาษี สรุปจบครบในโพสเดียว มาอ่านกัน…

สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ



เบี้ยประกันที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้จะมี 3 แบบ คือ ประกันชีวิตทั่วไป ประกันสุขภาพ และประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งทั้ง 3 แบบนี้สามารถนำเบี้ยประกันที่เราจ่ายไป มาลดหย่อนภาษีได้ แบบนี้…

1. ประกันชีวิตทั่วไป

เราสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่เราทำของตัวเอง จากทุกกรมธรรม์มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บ.

ซึ่งประกันชีวิตทั่วไป จะมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ แบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา แบบสะสมทรัพย์ และแบบควบการลงทุน

และเบี้ยประกันชีวิตที่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ต้องเป็นแบบประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป และถ้ามีเงินคืนทุกปีระหว่างสัญญา เงินคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี แต่ถ้าคืนเป็นช่วงระยะเวลา เช่น คืนทุก 3 ปี หรือ 5 ปี เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสมของแต่ละช่วงเวลา


2. ประกันสุขภาพ
เราสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของเรามาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บ. (มีการเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าเบี้ยประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 63 นี้ จากเดิม 15,000 บาทเพิ่มเป็น 25,000 บาท) และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บ.

ประกันสุขภาพ ได้แก่ ประกันที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรคร้ายแรง หรือ ประกันภัยการดูแลระยะยาว


ส่วนเบี้ยประกันสุขภาพที่เราจ่ายให้บิดามารดา เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่รวมกับประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตของเรา โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 15,000 บ. ซึ่งรวมทั้งของพ่อและแม่นะ ไม่ใช่ได้คนละ 15,000 บ.

ประกัน COVID ที่หลายคนทำกันในปีนี้ สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ถ้าเข้าเงื่อนไขของประกันสุขภาพนะ


3. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บ.

แต่ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตทั่วไป อาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บ.

เช่น ถ้าเรามีรายได้ 1,000,000 บ. ซื้อประกันบำนาญไป 200,000 บ. และประกันชีวิตทั่วไป 100,000 บ. เราจะสามารถนำมาลดหย่อนในส่วนประกันบำนาญได้แค่ 150,000 บ. เท่านั้น เพราะคิดเป็น 15% ของรายได้

แต่ถ้าเราซื้อประกันชีวิตทั่วไปแค่ 50,000 บ. ยังเหลือส่วนสิทธิประกันชีวิตทั่วไปอีก 50,000 บ. เราสามารถนำส่วนของเบี้ยบำนาญอีก 50,000 บ. ไปหักลดหย่อนเป็นประกันชีวิตทั่วไปได้

ดังนั้นที่เขาบอกกันว่า ประกันบำนาญสามารถนำไปลดหย่อนได้ถึง 300,000 บ. นั้น ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า เราต้องมีรายได้ทั้งปีอย่างน้อย 1,333,333 บ. (เพราะรายได้เท่านี้ พอคิด 15% จะได้ 200,000 บ.) และต้องไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนประกันชีวิตทั่วไปเลยนะ

และการลดหย่อนภาษีของประกันบำนาญนั้น เมื่อรวมกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)/ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD)/ RMF/ SSF/ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช. แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บ. ด้วยนะ

การกรอกเวลายื่นภาษี

1. กรอกเบี้ยประกันสุขภาพตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บ.

2. กรอกเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป ตามที่จ่ายจริง และเมื่อรวมกับประกันสุขภาพแล้วไม่เกิน 100,000 บ.

3. กรอกเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ตรงนี้จะมีข้อสังเกตเล็กน้อย คือ ถ้าเราใช้สิทธิประกันชีวิตแบบทั่วไปไม่เต็มสิทธิ ให้กรอกประกันชีวิตแบบทั่วไปให้ครบ 100,000 บ. ก่อนที่เหลือจึงค่อยมากรอกประกันชีวิตแบบบำนาญ เช่น ถ้าเรามีประกันสุขภาพ 10,000 บ. ประกันชีวิตทั่วไป 50,000 บ. ประกันบำนาญ 100,000 บ. เวลากรอกยื่นภาษี คือ

– ใส่ประกันสุขภาพ 10,000 บ.

– ใส่ช่องประกันชีวิตทั่วไป 90,000 บ.

– ใส่ช่องประกันบำนาญ 60,000 บ. นะ

การใช้สิทธิประกันเพื่อลดหย่อนภาษีนั้น ต้องแจ้งบริษัทประกันด้วยว่า เราต้องการนำเบี้ยมาใช้ลดหย่อนภาษี เพื่อให้บริษัทส่งข้อมูลเบี้ยของเราให้สรรพากร โดยเราสามารถแจ้งผ่านระบบออนไลน์หรือผ่านตัวแทนประกันได้นะคะ


การทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันบำนาญ คงไม่ได้พิจารณาแค่เพื่อลดหย่อนภาษีเท่านั้น แต่ควรดูด้วยว่า แผนการเงินของเราเป็นยังไง การคุ้มครอง และผลประโยชน์ของประกันนั้นเป็นยังไงบ้าง

————————————

สอบถามเรื่องประกันที่น่าสนใจ รวมถึงประกัน COVID-19 สามารถติดต่อพูดคุยได้ที่ คุณพรพรรณ (ตั๊ก)

Line ID: march_ps กดจากลิงค์นี้ได้เลยนะคะ https://line.me/ti/p/BQ2JSrXX8D

หรือ☎️โทร 0964411096 ได้นะคะ

Advertisement

Published by DoctorWantTime

แพทย์ผู้ชื่นชอบการลงทุน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: