ช่วงนี้อ่านข่าวก็เห็นเรื่องราวเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และมีคำต่างๆ อย่าง อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน 2 คำนี้คืออะไร, เงินเฟ้อจากฝั่งต้นทุน , เงินเฟ้อจากฝั่ง demand, และยังมีคำอื่นๆ เช่น behind the curve, wage-price spiral, Inflation expectation มารู้จักคำต่างๆ เหล่านี้กันว่า คืออะไร
สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
เงินเฟ้อ คือ การที่สินค้าและบริการโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้น เช่น ค่าอาหาร ค่าแก๊สหุงต้ม ค่าน้ำมัน ค่ายา ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง ค่าห้องพัก และอื่นๆ ซึ่งการวัดเงินเฟ้อที่นิยมใช้คือ การใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Prices Index; CPI)
CPI เป็นดัชนีที่คำนวณจากตัวอย่างข้อมูลราคาของสินค้าและบริการทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละประเทศสินค้าและบริการที่เข้ามาคิด CPI ก็จะมีความแตกต่างกัน และการให้น้ำหนักต่างกัน ตามลักษณะการใช้จ่ายของประชาชน
บ้านเรา CPI คำนวณจากตัวอย่างข้อมูลราคาของสินค้าและบริการ 430 รายการ ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ โดยสัดส่วนของน้ำหนักก็จะเป็นอาหารสดมากที่สุด รองลงมาก็จะเป็นค่าที่พักอาศัย พาหนะและน้ำมัน
“อัตราเงินเฟ้อ คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เมื่อเทียบกับปีฐาน”

เงินเฟ้อแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการทุกประเภทที่บริโภคโดยทั่วไป ครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในหมวดต่างๆ
2. อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) คือ อัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ที่ตัดรายการสินค้าออก 2 หมวด คือ หมวดอาหารสดและพลังงาน เพราะ 2 หมวดนี้เคลื่อนไหวขึ้นลงตามฤดูกาล
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 7.66% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.51%
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย เดือน ก.ค. 65 อยู่ที่ 7.61% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.99%
ที่น่าสนใจคือ จะเห็นว่าเงินเฟ้อพื้นฐานที่ตัดอาหารสด และน้ำมันออกแล้ว เพิ่มขึ้นมา ตรงนี้อาจเป็นข้อสังเกตว่า เงินเฟ้อที่มาจากอาหารและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ได้มีการส่งผ่านต้นทุนเข้าไปอยู่ในหมวดสินค้าอื่นๆ แล้ว จึงทำให้ core inflation ปรับสูงขึ้น
ภาวะเงินเฟ้อจะขึ้นอยู่กับ 2 เรื่องหลัก
อย่างแรก มีคนต้องการสินค้าและบริการนั้นจำนวนมาก (Demand-pull) เมื่อ demand ในตลาดมาก ก็ทำให้คนที่ขายสินค้าหรือบริการ สามารปรับราคาสินค้าและบริการได้
อย่างที่ 2 คือ ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น (Cost – push) ก็จะให้คนขายไม่สามารถขายได้ในราคาเดิมก็ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น คนขายอาหารตามสั่ง ถ้าค่าแก๊ส ค่าไข่ ของสดเพิ่ม เขาก็จะปรับราคาอาหารที่ขายเราเพิ่มขึ้น
มารู้จักคำอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเงินเฟ้อที่มักได้ยินกัน
Inflation expectation การคาดการณ์เงินเฟ้อ เมื่อทุกคนคาดว่าเงินเฟ้อจะสูงไปเรื่อย ๆ ก็ไม่ลังเลที่จะบวกเพิ่มเข้าไปในสินค้า ค่าแรง ค่าเช่า จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อยิ่งคุมไม่ได้ เงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นจากสิ่งที่ผู้คนคิดว่ามันจะเป็น
อย่างช่วงนี้ ถ้าเราไปซื้อข้าวร้านตามสั่งสักร้าน แล้วเขาปรับขึ้นราคา เราจะรู้สึกว่าเป็นนปกติ ต่างกับช่วงที่เงินเฟ้อในระดับต่ำ ถ้าใครขึ้นราคาเราจะรู้สึกว่า เอาเปรียบ เปลี่ยนร้านดีกว่า ร้านอาหารจะปรับราคาเมนูต่างๆ ก็จะไม่ค่อยลังเลในการแก้ราคาให้ขึ้น เพราะรู้สึกว่าเงินเฟ้อสูง ต้องบวกเข้าไปเลย
ส่วน wage-price spiral หรือวงจรการขึ้นราคาสินค้า-ค่าจ้าง เป็นแบบนี้
ภาวะเงินเฟ้อทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อของได้น้อยลง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น ผู้ผลิตต้องขึ้นราคาเพื่อให้คุ้มกับต้นทุน เมื่อสินค้าต่างๆราคาแพง ลูกจ้างก็ขอปรับค่าแรงเพิ่ม ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นไปอีก ก็ต้องปรับราคาขึ้นไปอีก จึงเรียกวงจรนี้ว่า วงจรการขึ้นราคาสินค้า และค่าจ้าง (wage-price spiral)
จะไม่ขึ้นค่าแรงก็ลำบาก เพราะค่าครองชีพสูง แต่ขึ้นไปก็ยิ่งจะทำให้เงินเห้อคุมได้ยาก บ้านเราก็เริ่มมีข่าวก็ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปลายปีนี้
ส่วน Behind the curve คือ การที่ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปเมื่อเทียบกับแนวโน้มของเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยขึ้นช้าเกินไป ทำให้เงินเฟ้อควบคุมไม่ได้ และมักจะต้องดอกเบี้ยแรงและเร็วกว่าเดิม
บ้านเราจากการประชุม กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม 0.5% ขึ้นมาอยู่ที่ 0.75% และส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วงนี้เรายังต้องอยู่ในช่วงเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้น คงต้องรอดูว่า แนวโน้มเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่าไร
ทำไมเงินเฟ้อสูง ต้องขึ้นดอกเบี้ย

————————————
มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น
ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
เรียนจบ สามารถนำไปปรับใช้ เพื่อเลือกหุ้นลงทุนได้ด้วยตนเอง
เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้
ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย
