หลายคนน่าจะเคยได้ยิน Final tax มารู้จักกันว่า คืออะไร ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายคือ Final tax ไหม และเมื่อไหร่เราควรเลือก final tax มาอ่านกัน…
สนใจรับชมแบบวีดีโอ กดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ
ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย คือ การที่จ่ายภาษีไว้ล่วงหน้า ซึ่งเราต้องนำรายได้เหล่านั้นมารวมเพื่อคิดภาษี และดูว่า เราต้องจ่ายเพิ่ม หรือขอคืนจากภาษีที่เราถูกหักไป
Final Tax คือ เงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว โดยสามารถเลือกไม่นำมารวมยื่นแบบรายการภาษีของเราได้ หักภาษีไปแล้วจบ (Final tax) หรือจะนำมารวมยื่นก็ได้
เงินได้ที่สามารถเลือก Final Tax เช่น ดอกเบี้ย เป็นรายได้ 40(4) ก), เงินปันผลจากกองทุนรวมและหุ้น เป็นรายได้ 40(4)ข ซึ่งรายได้ 40(4) ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้
และมีเงินได้อีกบางประเภทที่สามารถเลือก final tax ได้ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 48(3)-(7)

แล้วเมื่อไหร่ ควรเลือก Final tax หรือเลือกนำมารวมยื่น สำหรับดอกเบี้ย เงินปันผล??
มีหลักคิดแบบนี้นะ
1. เงินได้ดอกเบี้ย และเงินปันผล เป็นคนละหมวดกัน สามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งมายื่นก็ได้ คือ จะนำเงินได้จากดอกเบี้ยมายื่น แต่ไม่นำเงินปันผลมาก็ได้ หรือจะนำเงินปันผลมารวมยื่น ไม่นำเงินได้ดอกเบี้ยมายื่นก็ได้ หรือ จะนำมาทั้ง 2 อย่าง หรือไม่นำมายื่นทั้ง 2 อย่างก็ได้ แล้วแต่เรา
2. เงินได้ประเภทดอกเบี้ย: ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ได้ดอกเบี้ยรวมกันเกิน 20,000 บ. ดอกเบี้ยจากตราสารหนี้ จะถูกหัก ณ ที่จ่าย 15% ถ้าฐานอัตราภาษีเราตั้งแต่ 15% ไม่ควรนำมารวมยื่น ถ้าน้อยกว่าควรนำมารวมยื่น
3. เงินปันผลถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10%
– ถ้ามีเงินปันผลเฉพาะกองทุนรวม ไม่มีเงินปันผลหุ้น ให้ลองดูฐานอัตราภาษีที่เราเสีย ถ้าเสียตั้งแต่ฐานอัตราภาษี 10% ขึ้นไป แนะนำไม่ต้องนำเงินปันผลของกองทุนรวมมายื่น เพราะอาจทำให้เสียภาษีมากขึ้น
– ถ้ามีเงินปันผลหุ้น ไม่มีเงินปันผลกองทุนรวม แนะนำให้ลองคิดทั้งนำมารวมยื่นและไม่นำมารวมยื่น ถ้าแบบไหนเสียภาษีน้อยกว่าก็เลือกแบบนั้น เนื่องจากเงินปันผลหุ้นจะถูกหักภาษี ณ จ่าย 10% และมีการหักภาษีในขั้นกำไรของภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้นเงินปันผลจากหุ้นจึงสามารถนำมาคิดเครดิตภาษีเงินปันผลได้ จึงไม่สามารถดูแค่ฐานอัตราภาษีเราแบบเงินปันผลจากกองทุนได้
– ถ้ามีเงินปันผลหุ้น และเงินปันผลกองทุนรวม แนะนำให้ลองคิดทั้งนำมารวมยื่นและไม่นำมารวมยื่น ซึ่งเงินปันผลหุ้นและกองทุนรวมเป็น 40(4)(ข) ถือเป็นรายได้ลักษณะเดียวกัน แต่เงินปันผลกองทุนรวมไม่สามารถคิดเครดิตภาษีเงินปันผลได้ ในการยื่นถ้ายื่นเงินปันผลต้องยื่นทั้งเงินปันผลหุ้นและกองทุนรวมด้วยนะ ซึ่งในแบบยื่นภาษีออนไลน์ จะเป็นเงินได้ที่อยู่ในช่องเดียวกัน ในหัวข้อ “รายได้จากการลงทุน” หัวข้อย่อย “เงินปันผลส่วนแบ่งกำไรจากหุ้น/กองทุน (มาตรา 40(4) (ข))”
ดังนั้น ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ไม่เท่ากับ Final tax จะเลือก Final tax ได้จะต้องเป็นเงินได้ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า เงินได้แบบนี้ ถ้าถูกหักแล้วจบ ไม่ต้องนำมายื่นรวมภาษีได้ ซึ่งที่หลายคนน่าจะมีคือ เงินได้ประเภทดอกเบี้ยและเงินปันผลนะ ส่วนจะเลือก Final tax หรือจะนำมารวมยื่น ก็ตามที่เล่าไปนะ
————————————
มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง
คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น
ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น
เรียนจบสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อเลือกหุ้นลงทุนได้ด้วยตนเอง
เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้ ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย
