Update!! ลดหย่อนภาษี 66 มีอะไรเปลี่ยนบ้าง

Update ลดหย่อนภาษีปี 66

ค่าลดหย่อนบางอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมในแต่ละปี มาอ่านกันว่า มีอะไรเปลี่ยนบ้าง มีอะไรลดหย่อนได้บ้าง

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในปี 66

– ปี 66 นี้ ไม่มีการลดการหักเงินสมทบเข้าประกันสังคมแล้วนะ ปีนี้จึงลดหย่อนประกันสังคมได้สูงสุด 9,000 บ. ตามที่เคยเป็ฯมาก่อนๆ

– มีการปรับเพดานของ กบข. เป็น 30% ของรายได้ จากเดิมจะออมสูงสุดกับ กบข. ได้ 15% การปรับตรงนี้มีผลตั้งแต่ 20 มี.ค. 66 นะ แต่ก็ยังมีเพดาน 5 แสนบาทนะ และการลดหย่อนภาษี SSF + กบข./ PVD/ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช. + RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บ. ด้วยนะ

– มีการปรับให้ออมกับ กอช. ได้สูงสุดเป็น 30,000 บ. ต่อปี เพดานในการลดหย่อนภาษีจึงเพิ่มเป็น 30,000 บ. จากเดิม 13,200 บ. นะ เพิ่งเริ่มตั้งแต่ปี 66 นี้นะที่มีการปรับเพิ่ม

– การที่ต้องแจ้งความประสงค์ในการลดหย่อนภาษีของ SSF, RMF ก็ยังมีอยู่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 65 มานะ เพราะกฎหมายบอกว่า ใช้สำหรับเงินที่ซื้อ SSF, RMF ตั้งแต่ ม.ค. 65 เป็นต้นไป อันเดิมที่เคยแจ้งไปแล้ว ก็ไม่ต้องแจ้งใหม่ แต่ถ้าซื้อกองใหม่ บลจ. ใหม่ ก็จะมีต้องแจ้งเพิ่มเติม

– ปีนี้มีช้อปดีมีคืนที่มีเมื่อ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 66 ที่ต่างจากช้อปดีมีคืน 65 คือ ค่าน้ำมันค่าน้ำมันเติมยานพาหนะ นำมาลดหย่อนตรงนี้ได้ และได้ปรับเพดานขึ้นเป็น 40,000 บ. แต่ที่เพิ่มมาอีก 10,000 บ. จะต้องใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice, e-Receipt ของสรรพากร)  ส่วน 30,000 บ. แรกจะเป็นรูปแบบกระดาษเดิม หรือแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ซึ่งสามารถใช้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 40,000 บ. เลยก็ได้ ใครเก็บในรูปกระดาษ ระวังเรื่องสีหมึกจางหายนะ ยังไงก็ scan เก็บเป็นไฟล์ไว้ด้วยน่าจะดี

ส่วนค่าลดหย่อนอื่นๆ ที่คล้ายเดิม อ่านต่อด้านล่างนะ

ลดหย่อนพื้นฐาน

ค่าลดหย่อนพื้นฐาน จะเป็นลักษณะภาระในการดูแลตัวเอง คนรอบข้าง ถ้าเรามีภาระต่างๆ เหล่านี้ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

– ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บ. เป็นสิทธิที่ทุกคนได้ เวลายื่นภาษีออนไลน์ ระบบจะขึ้นอัตโนมัติ ไม่ได้ต้องมากรอก

– ลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บ. ในกรณีที่ดูแลคู่สมรสที่ไม่มีรายได้

– ลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บ. บุตรตั้งแต่คนที่ 2 และเกิดปี 61 เป็นต้นไป คนละ 60,000 บ. ซึ่งจะต้องเป็นลูกแท้ๆ หรือจดทะเบียนบุตรบุญธรรม

– ลดหย่อนบิดา มารดา คนละ 30,000 บ.โดยพ่อ แม่ ต้องอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และพ่อ แม่ มีรายได้ ไม่เกิน 30,000 บ. ต่อปี

– ลดหย่อนผู้พิการ/ ทุพพลภาพ 60,000 บ. โดยเป็นผู้พิการที่มีบัตรผู้พิการและระบุชื่อเราเป็นผู้ดูแล และผู้พิการมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บ. ต่อปี

– ค่าฝากครรภ์/คลอดบุตร สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุด ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บ. ซึ่งถ้าเบิกจากสวัสดิการที่มีด้วย เพดานการลดหย่อนจะลดลง เช่น ได้ค่าคลอดบุตรจากประกันสังคม 13,000 บ. เพดานที่หักลดหย่อนได้ = 60,000 – 13,000 = 47,000 บ.

ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน

เฉพาะส่วนของดอกเบี้ยจ่ายในปีนั้น ที่นำมาลดหย่อนได้ (ไม่ใช่ยอดเงินผ่อนต่อเดือนนะ) ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บ.

ซึ่งถ้าเป็นการกู้ร่วม เพดานในการลดหย่อนและดอกเบี้ยที่จะนำมาลดหย่อน ก็จะหารตามจำนวนผู้กู้ร่วมนะ เช่น กู้ร่วม 2 คน และปีนั้นจ่ายดอกเบี้ยไป 120,000 บ. แต่ละคนจะนำไปลดหย่อนได้คนละ 50,000 บ. เพราะติดเพดานคนละ 50,000 บ. นะ (ถึงแม้ดอกเบี้ยหาร 2 แล้วได้ 60,000 บ.)

ลดหย่อนเงินบริจาค

เงินบริจาค สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินบริจาคแล้ว

และถ้าเป็นการบริจาคพิเศษที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า มานะบริจาค 1,000 บ. จะนำไปลดหย่อนได้ 2,000 บ.

เงินบริจาคพิเศษ ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า คือ…

– เงินบริจาคให้สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลรัฐ

– เงินบริจาคเพื่อการศึกษา ให้แก่สถานศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมาย เพื่อก่อสร้างอาคาร จัดซื้ออุปกรณ์การสอน หรือเพื่อพัฒนาอาจารย์

– เงินบริจาคเพื่อการกีฬา และการพัฒนาสังคม เช่น เงินบริจาคสนับสนุนการกีฬาให้กับสมาคมการกีฬา เงินบริจาคให้โครงการฝึกอบรมอาชีพ

สามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อสถานที่ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า จากเว็บไซต์ของสรรพากร ตามลิงค์นี้นะ https://www.rd.go.th/62336.html

เงินบริจาคพรรคการเมือง

ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บ. อันนี้ไม่เกี่ยวกับ ที่มีให้การใช้สิทธิเลือกให้เงินภาษีสูงสุด 500 บ. ไปอุดหนุนพรรคการเมือง ตอนเรายื่นภาษีประจำปีนะ

ประกันชีวิตและการลงทุน

– ประกันสังคม ไม่เกิน 9,000 บ.

– ประกันชีวิต สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่เราทำของตัวเอง จากทุกกรมธรรม์มาใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บ.

– ประกันสุขภาพตัวเอง ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 และเมื่อรวมกับประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บ.

– ประกันสุขภาพพ่อแม่ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่ง”ไม่รวม” กับประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตของเรา โดยสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 15,000 บ. ซึ่งรวมทั้งของพ่อและแม่นะ ไม่ใช่ได้คนละ 15,000 บ. โดยที่พ่อแม่มีรายได้ทั้งปี ไม่เกิน 30,000 บ.

– ประกันชีวิตของคู่สมรส ถ้าทำประกันชีวิตให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ และความเป็นสามีภริยาต้องอยู่ตลอดปีภาษี สามารถเบี้ยที่จ่าย ไปลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 10,000 บ.

– ประกันชีวิตแบบบำนาญ ไม่เกิน 15% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บ. แต่ถ้ายังไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตทั่วไป อาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บ. เช่น ถ้าเรามีรายได้ 1,000,000 บ. ซื้อประกันบำนาญไป 200,000 บ. และประกันชีวิตทั่วไป 100,000 บ. เราจะสามารถนำมาลดหย่อนในส่วนประกันบำนาญได้แค่ 150,000 บ. เท่านั้น เพราะคิดเป็น 15% ของรายได้

– SSF ตามที่ลงทุนในปีนั้น ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 200,000 บ.

– กบข. ตามจริง ไม่เกิน 30%ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บ.

– PVD ตามจริง ไม่เกิน 15%ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บ.

– กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ตามจริง ไม่เกิน 500,000 บ.

– RMF ตามที่ลงทุนในปีนั้น ไม่เกิน 30% ของรายได้ และไม่เกิน 500,000 บ.

– กอช. ตามจริง ไม่เกิน 30,000 บ.

และการลดหย่อนภาษี SSF + กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)/ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD)/ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช. + RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บ. ด้วยนะ

กระตุ้นเศรษฐกิจ

– ช้อปดีมีคืน (1 ม.ค. -15 ก.พ. 66) ไม่เกิน 40,000 บ.

– ลงทุนวิสากิจเพื่อสังคม (social enterprise) วิสาหกิจชุมชม เป็นนิติบุคคลที่ดำเนินงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือพพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเราสามารถนำมาลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 100,000 บ.

……………………………………………….

มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง

คอร์สที่จัดทำสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น ที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้น การอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น

เรียนจบสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อเลือกหุ้นลงทุนได้ด้วยตนเอง เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้

ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย

Advertisement

Published by DoctorWantTime

แพทย์ผู้ชื่นชอบการลงทุน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

%d bloggers like this: