สรุปเรื่อง “ราคาพาร์ (Par Value)”

หลายคนอาจจะสงสัยว่าราคาพาร์คืออะไร การรวมพาร์ แตกพาร์คืออะไร บริษัททำไปเพื่ออะไร และส่งผลกับหุ้นนั้นๆ ในพอร์ตเรายังไง มาอ่านโพสนี้กัน

สนใจรับชมแบบวีดีโอ กดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ

ก่อนอื่นมาเข้าใจก่อนว่า พาร์คืออะไร และแตกพาร์คืออะไรกันก่อน จะได้เข้ามากขึ้นเกี่ยวกับการรวมพาร์

ราคาพาร์ คือ มูลค่าเริ่มต้นของกิจการ โดยไปจดทะเบียนกับรัฐว่า มีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ และจะมีกี่หุ้น

ดังนั้นราคาพาร์ จะคิดมาจาก ทุนจดทะเบียน/ จำนวนหุ้น

เช่น บริษัทชูใจ ทุนจดทะเบียน 100,000 บ. มี 10,000 หุ้น

ราคาพาร์ = 100,000 บ./ 10,000 หุ้น = 10 บ.

แต่ถ้าบริษัทชูใจมี 100,000 หุ้น ราคาพาร์ก็จะเท่ากับ 1 บ. แทน

แล้วราคาพาร์ คือ ราคา IPO หรือเปล่า??

IPO หรือ initital public offering ก็คือ การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก

ราคาพาร์ ก็ไม่ใช่ราคา IPO อยู่ดี เพราะราคาพาร์ คือ มูลค่าเริ่มต้นของบริษัท แต่การนำมาเสนอขายให้ประชาชนโดยทั่วไป จะขายหุ้นละเท่าไหร่ นั้น เขาจะมีการประเมินมูลค่ากิจการในลักษณะต่างๆ และคิดออกมาควรจะขายหุ้นละเท่าไหร่ และส่วนที่ขายได้เกินราคาพาร์ ก็จะถูกบันทึกในงบการเงิน ส่วนงบดุล ใน “ส่วนเกินมูลค่าหุ้น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของส่วนผู้ถือหุ้น

ต่อมามาดูกันกว่าแล้วการแตกพาร์คืออะไร ส่งผลยังไงต่อหุ้น??

การแตกพาร์ คือ การทำให้จำนวนเงินที่ต้องใช้ในการซื้อขายหุ้นแต่ละครั้งลดลง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้มีการซื้อขายหุ้นได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเลย ไม่ได้ทำให้มูลค่ารวมในพอร์ตของคนที่ถือหุ้นเดิมอยู่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการแตกพาร์

บริษัทชูใจ ทุนจดทะเบียน 100,000 บ. มี 10,000 หุ้น

ราคาพาร์ 10 บ. ต่อมากำไรของบริษัทชูใจเติบโตดี ทำให้ราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาด จากเดิมหุ้นละ 100 บ. เติบโตขึ้น เป็นหุ้นละ 400 บ.

บริษัทชูใจเลยแตกพาร์ จากพาร์ 10 บ. เหลือ 1 บ. ทำให้จากเดิม 10,000 หุ้น เป็น 100,000 หุ้น (เพิ่ม 10 เท่า เพราะทุนจดทะเบียนเท่าเดิมคือ 100,000 บ.)

ทำให้ราคาหุ้นเดิม 400 บ. ก็เหลือ 40 บ. (หารด้วย 10 เหมือนกัน)

ถ้าเรามีหุ้นบริษัทชูใจ ตอนก่อนแตกพาร์ที่ราคาหุ้นละ 400 บ. อยู่ 100 หุ้น หลังแตกพาร์ ราคาหุ้นจะอยู่ที่ 40 บ. แต่เราจะได้หุ้นเพิ่มเป็น 1,000 หุ้น

ซึ่งจะเห็นว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทชูใจที่เราถืออยู่คือ เท่าเดิม เพราะเดิม 400 บ. x 100 หุ้น = 40,000 บ. หลังแตกพาร์ 40 บ. X 1,000 หุ้น = 40,000 บ.

ซึ่งทั้งราคาหุ้นและจำนวนหุ้นที่ปรับใหม่หลังแตกพาร์นั้นจะเข้ามาพอร์ตของผู้ถือหุ้นเดิมแบบอัตโนมัติในวันที่มีผล เราไม่ต้องไปยื่นเอกสารหรือทำอะไร

ลองดูตัวอย่างหุ้น STGT ในรูปด้านล่างนะ

ส่วนการรวมพาร์นั้น เป็นการทำตรงกันข้ามกับที่เล่าไปข้างต้น เป็นการรวมเพื่อทำให้ราคาต่อหุ้นเพิ่มสูงขึ้น

ลองดูตัวอย่างกัน หุ้นบริษัทมานะ ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บ. มี 10,000,000 หุ้น ราคาพาร์ คือ 0.1 บ. (คิดจาก ทุนจดทะเบียน/ ราคาหุ้น)

ตอนเข้าตลาด ราคาหุ้นบริษัทมานะซื้อขายกันในตลาดที่ราคาหุ้นละ 1 บ. แต่ต่อมาปรับตัวลดลง จากผลประกอบการขาดทุนหรือที่ไม่ดีนัก หรือจากเหตุปัจจัยอื่นๆ ทำให้ราคาหุ้นจากเดิม 1 บ. ลดลงมาอยู่ที่ 0.4 บ. บริษัทมานะจึงตัดสินใจรวมพาร์ จากพาร์เดิม 0.1 บ. เป็น 0.5 บ. จะเห็นว่า เพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เท่า แต่ทุนจดทะเบียนยังเท่าเดิม ดังนั้นจะคิดออกมาได้ราคาพาร์ 0.5 บ.นี้ จำนวนหุ้นต้องลดลง 5 เท่าด้วยเช่นกัน จึงเป็นการรวม 5 หุ้น เป็น 1 หุ้น

ถ้าเราเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทมานะอยู่เดิม และเรามีอยู่ 10,000 หุ้น ราคาหุ้นก่อนรวมพาร์คือ 0.4 บ. มูลค่ารวมก่อนรวมพาร์ คือ 4,000 บ.

พอมีการรวมพาร์ ในพอร์ตหุ้นเราจะเป็นแบบนี้ จำนวนหุ้น 2,000 หุ้น ราคาหุ้น 2 บ. มูลค่ารวมหลังรวมพาร์คือ 4,000 บ. เท่าเดิม

แล้วทำไมต้องมีการรวมพาร์??

  • เพื่อเป็นการให้ราคาหุ้นดูดีขึ้น เพราะหุ้นที่ราคาต่ำบาทนั้น มักจะดูไม่ค่อยดีนัก
  • การเปลี่ยนจากตลาดหลักทรัพย์ MAI ไปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ข้อหนึ่งคือ  มีมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ไม่น้อยกว่าหุ้นละ 0.50 บาท เรื่องอื่นๆ ก็จะเป็นทุนจดทะเบียน กำไรสุทธิ ส่วนผู้ถือหุ้น จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย เป็นต้น
  • บริษัทอาจมีแผนตามมาด้วยการลดทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วลง ซึ่งจะทำให้ราคาพาร์ปรับลดลงจากเดิมที่ปรับขึ้นมา เพื่อทำให้เกิดส่วนต่างมูลค่าหุ้น นำมาล้างขาดทุนสะสมได้  ใครสนใจอ่าน “ลดทุน ลดพาร์ ล้างขาดทุนสะสม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากลิงค์นี้นะ https://doctorwanttime.com/2020/05/28/retained-deficit/

ซึ่งทั้งราคาหุ้นและจำนวนหุ้นที่ปรับใหม่หลังรวมพาร์นั้นจะเข้ามาพอร์ตของผู้ถือหุ้นเดิมแบบอัตโนมัติในวันที่มีผล เราไม่ต้องไปยื่นเอกสารหรือทำอะไรเพิ่มเติม

—————————————

มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเองเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง เป็นคอร์สที่จัดทำพิเศษสำหรับมือใหม่ลงทุนหุ้น.ถ้าสนใจเข้าไปอ่านรายละเอียด และลงทะเบียนเรียนกันได้เลย

https://www.skilllane.com/courses/i-investor

Published by DoctorWantTime

แพทย์ผู้ชื่นชอบการลงทุน

One thought on “สรุปเรื่อง “ราคาพาร์ (Par Value)”

ใส่ความเห็น