5 ข้อพิจารณาในการเปิดบัญชีออมหุ้นเพื่อ DCA

หลายคนน่าจะเคยได้ยินการลงทุนหุ้นแบบ DCA โดยเปิดเป็นบัญชีออมหุ้น มารู้จักกันว่าวิธีการลงทุนแบบนี้เป็นยังไง มีโบรกไหนบ้างที่มีบริการบัญชีออมหุ้น และมีรายละเอียดอะไรที่เราต้องดูบ้าง มาอ่านโพสนี้กัน

สนใจรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดเข้าไปดูได้จากลิงค์นี้นะคะ

Image:Freepik.com


ก่อนอื่นมารู้จักกันก่อนว่าการลงทุนหุ้นแบบ DCA ด้วยวิธีนี้ มีข้อดี ข้อจำกัดยังไง

การลงทุนแบบ DCA นั้นจะทำให้เราสามารถซื้อหุ้นในจำนวนที่มากขึ้นหากราคาหุ้นต่ำลง และจะซื้อได้น้อยลงในขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการลงทุนแบบนี้ เราจะกำหนดการลงทุนเป็นงวด ๆ งวดละเท่า ๆ กัน อาจลงทุนเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน โดยไม่สนใจ ไม่หวั่่นไหวว่าราคาหุ้นที่เราจะซื้อตอนนั้นเป็นราคาเท่าไรจะขึ้นหรือจะลง ทยอยซื้อไปเรื่อยๆ โดยเป็นการลงทุนและหวังผลในระยะยาว เช่น 5 ปี 10 ปี ไป

ข้อดีที่เห็นได้ชัดของวิธีนี้คือ เราไม่ต้องมาคอยจับจังหวะตลาด เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่มีใครคาดเดาตลาดได้แน่นอน และทำให้เรามีวินัยในการลงทุน


ส่วนข้อจำกัดของ DCA คือ การลงทุนแบบ DCA ช่วยแค่เรื่องไม่ต้องคอยจับจังหวะตลาด แต่ไม่ได้หมายความว่า เราใช้กับหุ้นใดๆ ก็ได้ทั้งนั้น และเราก็ต้องคอยติดตามหุ้นที่เราลงทุนด้วยว่าหุ้นนั้นยังมีพื้นฐานที่ดีอยู่หรือเปล่า ไม่อย่างนั้นการทำ DCA จะยิ่งทำให้ขาดทุนได้

ดังนั้น การลงทุนหุ้นแบบ DCA เป็นการลงทุนหุ้นในแนวพื้นฐาน เพียงแต่ไม่ต้องคอยจับจังหวะตลาด และการลงทุนแบบ DCA ควรลงทุนไปเรื่อยๆ ในหุ้นที่เราคัดมาว่าดีแล้ว แม้จะเป็นช่วงที่ราคาหุ้นนั้นตกลง เพื่อที่เราจะได้ใช้เงินเท่าเดิมแต่ได้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น

ถ้าเราสนใจลงทุนแบบ DCA นั้นก็จะมี 2 รูปแบบ


แบบแรกคือ การทำ DCA ผ่านโปรแกรมซื้อขายหุ้นผ่าน streaming ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เราทำการซื้อขายหุ้นทั่วไป แล้วเราก็เลือก function ที่เป็น DCA order

ซึ่งการซื้อแบบนี้ต้องเป็นการซื้อขั้นต่ำครั้งละ 100 หุ้น ไม่สามารถซื้อเป็นเศษหุ้นได้ วิธีนี้ก็จะเหมาะกับคนที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นแบบออนไลน์ผ่าน streaming อยู่แล้ว

แต่ข้อจำกัดคือ ถ้าต้องการลงทุนหุ้นที่มีราคาสูง ก็จะต้องใช้เงินลงทุนต่อเดือนมากพอที่จะซื้อหุ้นนั้นๆ ทีละ 100 หุ้น เช่น ต้องการทำ DCA หุ้น BH ที่ราคาหุ้นอยู่ประมาณ 120 บ./หุ้น ดังนั้นการซื้ออย่างน้อยทีละ 100 หุ้น ก็ต้องใช้เงินประมาณ 12,000 บ./ครั้ง ดังนั้นถ้าจะ DCA หุ้นนี้ ก็อาจต้องตั้ง DCA order อย่างนัอยประมาณ 12,000 – 13,000 บ. และถ้าราคาหุ้นปรับขึ้นไปอีก ก็ต้องเพิ่มจำนวนเงินในการตัด DCA ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถซื้อหุ้น BH ที่เร้าองการ DCA ได้ หรืออย่างหุ้น ADVANC ที่ราคาหุ้นอยู่ที่ประมาณ 1ึ70 บ. ถ้าจะลงทุนก็ต้องใช้เงินต่อเดือนเพิ่มขึ้นเพื่อให้พอซื้อครั้งละ 100 หุ้น เป็นต้น

การลงทุนหุ้นผ่าน DCA order นี้ ส่วนใหญ่หลายๆ โบรกเกอร์ ก็จะมีบริการนี้อยู่ในโปรแกรมการซื้อขายหุ้นออนไลน์ แต่บางโบรกอาจยังไม่มี เราสามารถตรวจสอบดูได้ว่ามีบริษัทหลักทรัพย์ใดบ้างที่มีบริการนี้ ได้จากเว็บไซต์ของ settrade ซึ่งสามารถกดจาก link นี้ได้
https://www.settrade.com/C00_Redirect.jsp?txtPage=products%2Fth%2Fbroker.html

ส่วนอีกแบบคือ การทำ DCA ผ่านโปรแกรมออมหุ้น ซึ่งเป็นบริการพิเศษที่มีเฉพาะบางโบรกเกอร์เท่านั้น โปรแกรมนี้จะมีไว้สำหรับการลงทุนหุ้นแบบ DCA โดยเฉพาะ

ซึ่งการทำ DCA แบบนี้เราจะสามารถซื้อเป็นเศษหุ้นได้ ไม่ได้จำเป็นต้องซื้อขั้นต่ำครั้งละ 100 หุ้น ซึ่งโบรกเกอร์จะเป็นคนจัดสรรและจัดการให้ โดยราคาหุ้นที่ได้จะเหมือนกับซื้อจากกระดานหลักตามปกติ

จึงทำให้การลงทุนหุ้นแบบ DCA ผ่านโปรแกรมออมหุ้นแบบนี้ก็สามารถใช้เงินไม่มาก ก็ซื้อหุ้นใหญ่อย่าง BH, ADVANC ได้ สามารถดูได้ว่ามีโบรกไหนมีโปรแกรมออมหุ้นแบบนี้บ้าง จากในเว็บไซต์ของ set ตาม link นี้ได้ https://www.set.or.th/th/investnow/investnow_home.html

แล้วมีรายละเอียดอะไรที่เราต้องดูบ้างถ้าเราจะเปิดเป็นบัญชีออมหุ้นเพื่อ DCA โดยเฉพาะ

5 ข้อพิจารณาในการเปิดบัญชีออมหุ้นเพื่อ DCA



1. เลือกดูว่าโบรกนั้นๆ มีหุ้นที่เราต้องการทำ DCA ไหม
บางที่ก็จะให้เราเลือกหุ้นที่อยู่ใน SET 50 หรือ SET 100 หรือบางโบรกจะมี list รายชื่อหุ้นที่จะให้เลือกทำ DCA อาจเป็นหุ้นใหญ่หรือหุ้นเล็กก็ได้ เช่น บางทีก็จะมีหุ้น 30 ตัวให้เราเลือก ซึ่งเราก็จะเลือกได้ตามเท่าที่เขากำหนดไว้ ดังนั้นก็เข้าไปดูรายละเอียดว่าโบรกที่เราจะเปิดบัญชีนั้น มีหุ้นที่เราสนใจหรือต้องการจะ DCA ไหม

2. ค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมแต่ละโบรก ก็จะมีการคิดแตกต่างกัน บางที่จะมีกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำไว้ เช่น 30 บาทต่อรายการ หรือ 50 บาทต่อวัน บางที่ไม่มีกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ ถ้าเราซื้อแต่ละครั้งไม่มาก ก็ลองดูเรื่องนี้ด้วยนะ และเราก็ควรเลือกโบรกที่เราต้องเสียค่าธรรมเนียมน้อย

3. เงินขั้นต่ำที่แต่ละโบรกกำหนดไว้ ซึ่งในแต่ละโบรกเกอร์ที่ให้บริการนี้ ก็จะมีกำหนดขั้นต่ำไว้ เช่น 1,000 บ. 2,000บ. หรือ 5,000 บ. ต่อ 1 หลักทรัพย์ เลือกตามที่เราต้องการและแผนที่เรากำหนดไว้

4. วันที่ให้เลือกตัด DCA แต่ะละที่จะมีกำหนดวันไว้แตกต่างกัน เช่น บางทีมีให้เลือกตัดวันที่ 1 และ 16 บางทีก็จะมีให้เลือกตัดวันที่ 5 วันที่ 20 วันที่ 28 ดังนั้นเราก็เลือกวันที่เราสะดวก อย่างเช่น เป็นวันที่เงินเดือนหรือเงินเวรเข้า จะได้เป็นเหมือนการออมก่อนใช้จ่ายของเรา

5. อื่นๆ เช่น ความสะดวกในการทำธุรกรรมของเรา บริการต่างๆ ของโบรกเกอร์

การลงทุนหุ้นแบบ DCA เป็นการลงทุนตามแนวพื้นฐานและเป็นการลงทุนในระยะยาว ถ้าใครสนใจจะเปิดบัญชีออมหุ้นเพื่อ DCA ก็ลองไปปรับใช้กันดูนะ แต่ถ้าใครไม่สามารถเลือกหุ้นได้ด้วยตนเอง หรือไม่มีเวลาติดตามหุ้นที่เราลงทุน การลงทุนแบบ DCA ในกองทุนรวมหุ้นอาจดูน่าสนใจกว่านะ

————————————

คอร์สออนไลน์ I-INVESTOR

คอร์สที่จะได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกหุ้นการอ่านงบการเงิน รวมไปถึงการประเมินมูลค่าหุ้น เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ ทวนกี่ครั้งก็ได้มาเรียนรู้การเลือกหุ้นด้วยตัวเอง เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง

ลงทะเบียนเรียนกันได้เลย

https://www.skilllane.com/courses/i-investor

Published by DoctorWantTime

แพทย์ผู้ชื่นชอบการลงทุน

ใส่ความเห็น