3 คำถาม เรื่องขายคืน RMF เมื่ออายุครบ 55 ปี??

หลายคนสงสัย เรื่องเงื่อนไขการถือครอง RMF ที่ว่า ต้องถือครองจนถึงอายุ 55 ปี และต้องลงทุนอย่างน้อยมา 5 ปี โดยนับแบบวันชนวัน ถึงจะขายได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข การนับปีที่ว่านี้นับยังไง นับแต่ละครั้งที่ซื้อเลยรึเปล่า ใครสงสัยมาอ่านกัน…

สนใจรับชมแบบวีดีโอ ไปเรื่อยๆ สบายๆ สามารถกดรับชมได้จากลิงค์นี้นะคะ

ขอเล่าถึงเงื่อนไขของ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีก่อนนะกันก่อนนะ

1. RMF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับ SSF/ PVD/ กบข./ ประกันบำนาญ/ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช. แล้วไม่เกิน 500,000 บ.

2. ต้องลงทุนทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน

3. ไม่มีกำหนดกการซื้อขั้นต่ำ ตั้งแต่ปี 2563 ไป

4. เงื่อนไขที่จะขายคืนได้ จะต้องมีอายุตั้งแต่ 55 ปี และถือครองมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยเป็นการนับแบบวันชนวัน ปีชนปี ซึ่งวันนี้จะมาขยายความตรงนี้กัน

คำถามที่ 1 พออายุครบ 55 ปี ขายคืนได้ทุกก้อนที่เคยซื้อมา หรือ นับแต่ละก้อนต้องถือ 5 ปี??
เช่น มานีจะมีอายุครบ 55 ปี วันที่ 1 สิงหาคม 62
โดยมานีเริ่มลงทุน RMF ครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 57
และลงทุนต่อเนื่องมาทุกปี ในปี 2558, 2559, 2560, 2561, 2562
มานีจะขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดของ RMF ทุกกองที่ซื้อมาตั้งแต่ 2557-2562 ได้ตั้งแต่ 2 ธันวาคม 62 เป็นต้นไป


เพราะถือครบ 5 ปี โดยนับจากวันที่เริ่มซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (1 ธันวาคม 57) เป็นหลัก และ อายุตั้งแต่ 55 ปี โดยกฏหมายจะถือ RMF ชุดนี้ทั้งหมดตั้งแต่ 2557-2562 ถือต่อเนื่องมาครบ 5 ปีแล้ว โดยการนับจะถือการลงทุนครั้งแรกเป็นสำคัญ เพื่อใช้สำหรับการครบเงื่อนไขเพื่อการขายคืนนะ

คำถามที่ 2 แล้วถ้าลงทุน RMF แบบปีเว้นปีหล่ะ จะนับยังไง??

ตามเงื่อนไขของ RMF กำหนดไว้ว่าต้องลงทุนทุกปี ขาดได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน ดังนั้นถ้าเราจะลงทุนแบบปีเว้นปี ก็ยังถือว่าไม่ผิดเงื่อนไข แต่จะมีผลต่อการนับปีของ RMF เพราะที่เขากำหนดว่า ต้องลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี ตรงนี้ เขาจะนับเฉพาะปีที่ลงทุน

จากตัวอย่างข้างต้น

มานีลงทุน RMF ครั้งแรก เมื่อ 1 ธันวาคม 57 แต่ลงทุนแบบปีเว้นปี คือ ลงทุนปี 2559, 2561, 2563 ถึงแม้ว่ามานีจะครบอายุ 55 ปี เมื่อ 1 สิงหาคม 2562 ก็จะยังไม่ครบตามเงื่อนไข เพราะลงทุนมายังไม่ครบ 5 ปี เพราะเขานับเฉพาะปีที่ลง ดังนั้นมานีต้องลงทุนต่อไปอีก 2 ปี ถึงจะครบตามเงื่อนไข

คำถามที่ 3 แล้วถ้ามานีเกิดลืมลงทุน เว้นเป็น 2 ปี หล่ะ ลงทุน RMF ครั้งแรก เมื่อ 1 ธันวาคม 57 และลงทุนปี 2559 แต่ปี 60 ตั้งใจไม่ซื้อ ส่วนปี 62 ลืมซื้อ และตอนนี้เข้าปี 63 แล้ว กลายเป็นขาด 2 ปี

ถ้าแบบนี้การนับปีก็จะสิ้นสุดลง และเป็นการผิดเงื่อนไขการลงทุน RMF ต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้ลดหย่อนมา และส่วนต่างกำไรจากการขายคืนต้องนำมาเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี

ดังนั้นเงื่อนไขการถือครอง RMF เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น ต้องถือ RMF มาไม่น้อยกว่า 5 ปี ตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และการนับจำนวนปีนั้น จะนับเฉพาะปีที่มีการซื้อ RMF เท่านั้น

การลงทุนใน RMF ควรมองเป็นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณเริ่มตั้งแต่เริ่มต้นทำงานมีรายได้ที่ต้องสียภาษีนะ ไม่ใช่เรื่องของคนวัยใกล้เกษียณเท่านั้น ซึ่งเราก็ควรทำควรเข้าใจเงื่อนไขให้ดีก่อนลงทุน เพื่อที่เราจะได้ประโยชน์ในการลงทุน RMF อย่างเต็มที่ และไม่ต้องมาปวดหัวเมื่อทำผิดเงื่อนไข

————————————
E-book “ก้าวสู่เป้าหมายด้วยกองทุนรวม”

ที่อธิบายถึงเรื่องของกองทุนรวม ค่าต่างๆ ที่ควรรู้ก่อนลงทุน
วิธีการเลือกกองทุนรวมลักษณะต่างๆ ให้เหมาะกับแผนการเงินของเรา ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมตลาดเงิน ตราสารหนี้ การเลือกกองทุนหุ้นแบบ passive และ active fund รวมไปถึงกองทุนประหยัดภาษี

สนใจสามารถเข้าไปทดลองอ่านและสั่งซื้อได้จากเว็บไซต์ของ ookbee และ meb ได้เลยนะคะ

Published by DoctorWantTime

แพทย์ผู้ชื่นชอบการลงทุน

ใส่ความเห็น