LTF หรือ Long-Term Equity Fund (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) เนื่องจากปีนี้จะเป็นปีแรกที่ LTF ไม่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ หลายคนสงสัยว่าแล้ว LTF ที่ซื้อมาจะต้องทำตามเงื่อนไขไหม และยังต้องซื้อ LTF ต่ออีกไหม และที่เราถืออยู่จะต้องทำยังไง ถ้าสงสัยในประเด็นเหล่านี้ มาอ่านกัน…
ใครชอบรับชมแบบวีดีโอ สามารถกดดูได้จากลิงค์นี้นะคะ
1. การลดหย่อนภาษีด้วย LTF
ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 เงินลงทุนใน LTF ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ดังนั้นตั้งแต่ปีนี้ จะไม่สามารถใช้ LTF ในการลดหย่อนภาษีได้ แต่ถ้าใครยื่นภาษีของปีภาษี 62 จะยังใช้ LTF ลดหย่อนได้ตามปกติ
ซึ่งปีนี้จึงมีกองทุนประหยัดภาษีมาแทน LTF คือ SSF (Super Saving Fund) และ SSFX (Super Saving Fund Extra) ซึ่งมีเงื่อนไข ต่างจาก LTF พอสมควร ได้ทำรูปแบบเปรียบเทียบไว้ให้ได้อ่านกันด้านล่าง

ซึ่งกอง SSF และ SSFX ของ บลจ. ต่างๆ ก็ทยอยออกมาให้เราได้เห็นกันแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน 2563
ส่วนการลดหย่อนภาษีด้วย RMF นั้น ยังลดหย่อนภาษีได้เหมือนเดิม เพียงแต่ตั้งแต่ปีนี้(ปี 2563) มีการปรับเปลี่ยนเพดานในการลดหย่อนภาษีด้วย RMF เป็นซื้อได้ไม่เกิน 30%ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บ. เมื่อรวมกับ SSF/PVD/กบข./ประกันบำนาญ/กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน/ กอช.และไม่ต้องมีจำนวนเงินขั้นต่ำในการลงทุน RMF แต่เงื่อนไขการถือครอง และการที่ต้องลงทุนทุกปี ขาดได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกันยังเหมือนเดิม
2. LTF ที่ซื้อมาแล้วต้องถือไว้นานเท่าไหร่ บางคนบอกแค่ 5 ปี 2 วัน ก็ขายได้แล้ว
การซื้อ LTF เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น ต้องถือไว้โดยไม่ขายเป็นเวลา 7 ปีปฏิทิน หรือก็คืออย่างน้อย 5 ปี 2 วัน แต่ต้องทำให้คาบเกี่ยวปีปฏิทินได้ เช่น ซื้อวันที่ 30 ธ.ค. 62 ก็ต้องถือไปจนถึง 2 ม.ค. 68 (วันที่ 1 ม.ค. เป็นวันหยุด) แต่ถ้าครบกำหนดขายคืนแล้ว ยังถือต่อไปได้เรื่อยๆ นะ
ดังนั้นใครที่ลงทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีเมื่อปีก่อนๆ ปีนี้ถึงจะไม่สามารถใช้ LTF ลดหย่อนภาษีได้แล้ว แต่ก็ยังต้องทำตามเงื่อนไขของ LTF คือ ถือไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน
ส่วนเงื่อนไขการถือครองของ SSF และ SSFX ที่มีมาแทน LTF นั้น เงื่อนไขการถือครอง ต่างไปอย่างชัดเจนนะ เพราะต้องถืออย่างน้อย 10 ปี โดยนับแบบวันชนวัน เช่น เราซื้อลงทุน ก้อนแรก เมื่อ 1 เมษายน 2563 ไป 50,000 บ. และอีกก้อนซื้อตอน 25 ธันวาคม 2563 อีก 50,000 บ. เราจะลดหย่อนจาก SSF ในปีภาษี 63 ได้ 100,000 บ. และเราจะขายคืนได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข สำหรับเงินก้อนแรกเมื่อ 2 เมษายน 2573 ส่วนอีกก้อนที่ซื้อปลายปีนั้น ก็จะขายคืนได้ตอน 26 ธันวาคม 2573 เป็นต้นไป
3. ปีที่แล้ว(ปี 2562) หรือปีก่อนๆ ซื้อ LTF ไว้ ปีนี้ต้องซื้ออีกไหม
LTF ไม่ได้มีกำหนดว่า ต้องซื้อทุกปี ดังนั้นถึงเคยซื้อมาแล้ว ปีนี้ไม่ซื้อก็ไม่ผิดเงื่อนไข เพียงแต่ที่ซื้อมาต้องถือครองให้ครบตามเงื่อนไข และเนื่องจากตั้งแต่ปี 2563 นี้ ไม่สามารถใช้ LTF ลดหย่อนภาษีได้แล้ว ดังนั้นถ้าต้องการหากองทุนประหยัดภาษี ก็ให้ดูเป็น SSF, SSFX และ RMF

ซึ่งกอง LTF นั้นบาง บลจ. ระงับการซื้อ หรือสับเปลี่ยนเข้า แต่บาง บลจ. จะยังให้สามารถซื้อได้ แต่ก็จะมีเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้ (จะเหมือนเราลงทุนในกองทุนรวมหุ้นทั่วไป) ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 โดยกองเหล่านี้ก็ยังมีผู้จัดการกองทุนดูแลอยู่
4. ส่วนของ LTF ที่ได้รับยกเว้นภาษี ถ้าทำถูกเงื่อนไข
จะได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะกำไรจากการขายคืน LTF ที่ทำถูกต้องตามเงื่อนไข แต่ส่วนเงินปันผลจากกอง LTF ต้องเสียภาษี ส่วนนี้ไม่ได้รับยกเว้นภาษี ถึงแม้จะทำถูกเงื่อนไขนะ
ดังนั้นถ้าในปี 2563 นี้ LTF ที่เราถืออยู่เป็นกองแบบปันผล และเราได้เงินปันผลจาก LTF มา เงินนี้ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% นะ ส่วนเราจะนำมายื่นภาษีไหมนั้น แล้วแต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะนำรายได้ส่วนนี้มายื่นภาษี หรือไม่ยื่นภาษีก็ได้
5. ถ้าเมื่อปีก่อนซื้อลงทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีไว้ และต้องการขาย LTF ซื้อปีไหน จะขายได้ปีไหน
ได้ทำเป็นตารางให้อ่านง่าย ไม่ต้องไปนั่งนับปีเอง ว่า LTF ซื้อปีไหน ขายได้ปีไหนบ้าง และถ้าจะสั่งขาย ควรสั่งขายเป็นจำนวนหน่วยนะ เพื่อที่จะได้สั่งขายไม่เกินในส่วนที่สามารถขายได้ที่ครบเงื่อนไขการถือครอง

ถ้าเรามีความจำเป็นในการใช้เงิน แล้วจำเป็นต้องขาย LTF ก่อนครบกำหนด สามารถทำได้ไหม สามารถทำได้ แต่ส่วนต่างกำไรที่ได้จากการขายคืน ต้องนำไปรวบเป็นรายได้ในปีภาษีนั้นๆ ที่มีการขายคืน (ซึ่งถ้าขายขาดทุนตรงนี้ก็จะไม่มีอะไร) แต่จะมีความยุ่งยากอีกอย่างคือ ต้องคืนเงินภาษีที่เคยได้รับยกเว้นไป ซึ่งตรงนี้ให้รีบติดต่อพี่สรรพากรและทำทันทีที่มีการขายแบบผิดเงื่อนไข เพราะมีการคิดดอกเบี้ยด้วย 1.5% ต่อเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน ที่เรามีการยื่นลดหย่อน LTF ไว้ จนถึงเดือนที่มีการยื่นคืนเงินภาษี
ดังนั้นการจะใช้กองทุนประหยัดภาษีเหล่านี้ มาเพื่อลดหย่อนภาษีที่เราต้องเสียนั้น สิ่งสำคัญควรดูแผนการเงินของเราด้วย และต้องพิจารณาแล้วว่า เงินที่เรานำไปลงทุนในกองทุนประหยัดภาษีเหล่านี้ เป็นเงินที่ไม่มีความจำเป็นในการนำมาใช้จ่ายจนครบเงื่อนไขที่เขากำหนดไว้ได้
